ในคอกคิดอันคับแคบของข้าพเจ้า (Optimism is Ridiculous)

มนุย์เกิดมาเพื่อแสวงหาในสิ่งซึ่งกรอบเนชันแนลของเขาเรียกมันว่าอรรถประโยชน์

หมีดูหนัง: The Sleeping Dictionary (2003)

Posted by ปราชญ์ วิปลาส บน 19 กุมภาพันธ์, 2009

โดย…ปราชญ์ วิปลาส

(เผยแพร่อีกที่ใน “โลก-นอก/ใน-หนัง: The Sleeping Dictionary”)

อานิสงประการหนึ่งที่ได้รับจากโครงการ “โลก-นอก/ใน-หนัง: เสวนาภาพยนตร์กับนักเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” ก็คือการที่ผู้เข้าร่วมชมภาพยนตร์ได้มอง “โลกในหนัง” ผ่านเลนส์แว่นตาความคิดที่ตัดขึ้นจาก “โลกนอกหนัง” ของผู้เข้าชมแต่ละคน นั่นทำให้เมื่อมองไปยังสิ่งเดียวกันด้วยแว่นที่มีส่วนประกอบสร้างที่ต่างกัน สิ่งเดียวกันนั้นก็ย่อมไม่เป็นสิ่งเดียวกันเสียทีเดียวอีกต่อไป เมื่อถึงตอนนั้น สิ่งที่ตามมาย่อมเป็นการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน แม้ที่สุดแล้วไม่ได้คำตอบที่จริงแท้เพียงหนึ่งเดียว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมหมายถึงการเปิดโลกทัศน์ที่เคยมองผ่าน “แว่น” ของแต่ละคนให้กว้างขวางขึ้น

และต่อไปนี้คือ “โลกในหนัง” เรื่อง The Sleeping Dictionary ที่ได้รับการมองผ่านแว่นตาแห่ง “โลกนอกหนัง” อันหนึ่ง

sleeping_dictionary_cover

**SPOILER**SPOILER**SPOILER**SPOILER**SPOILER**SPOILER**SPOILER**SPOILER**

“In 1936, the British Empire still extended over vast area of the globe. It was a time when young men finished their own education by serving as administrators in distant lands. They sought to change the countries they ruled…but more often the countries changed them.”

นั่นเป็นสิ่งที่ The Sleeping Dictionary โปรยไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง การขยายอำนาจของอังกฤษในปีค.ศ. 1936 ที่ยังคงดำเนินไปทั่วโลก ช่วงเวลาที่ชายหนุ่มชาวอังกฤษจบการศึกษาได้ด้วยการไปทำงานเป็นผู้ปกครองในดินแดนใต้อาณานิคมที่อยู่ห่างไกล    คนหนุ่มเหล่านั้นพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศที่ตัวเองไปปกครอง แต่บ่อยครั้งก็กลับกลายเป็นพวกเขาที่ถูกประเทศในปกครองเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงเสียเอง

อาจกล่าวได้ว่านั่นคือหัวใจของเรื่องราวทั้งหมดใน The Sleeping Dictionary

The Sleeping Dictionary คือเรื่องราวของ John Truscott (Hugh Dancy) หนุ่มอังกฤษที่ไปทำงานเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่จากประเทศจ้าวอาณานิคมที่ปกครองชาว Iban ในซาราวัก John ได้พบกับ Selima สาวชาวพื้นเมืองที่ทำหน้าที่เป็น Sleeping Dictionary หรือที่กล่าวในเรื่องคือเป็นผู้ที่สอนภาษาท้องถิ่นให้กับจ้าวอาณานิคมผ่านการร่วมหลับนอน John ตกตะลึงในความงามของ Selima ตั้งแต่แรกเห็น ถึงกระนั้น วัฒนธรรมแห่งแผ่นดินแม่ที่ค้ำคออยู่ก็ทำให้เขาปฏิเสธแรงกระตุ้นทางธรรมชาติของตัวเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปความรักของคนทั้งสองก็เริ่มก่อตัวขึ้น และเมื่อถึงที่สุด John ก็ต้องเลือกระหว่างหน้าที่ในฐานะ “เจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานเพื่อประเทศของตน” กับ “มนุษย์ธรรมดาที่มีเลือดเนื้อคนหนึ่ง”

แม้เมื่อดูโดยทั่วไป The Sleeping Dictionary ก็คือหนังรักที่อาจถูกตีตราได้ว่าอยู่ในตระกูลน้ำเน่าเพ้อฝัน แต่กระนั้น หนังตระกูลนี้ก็ทรงพลังและช่วยต่อเติมความฝันให้ใครหลายๆคนได้เรื่อยมา และที่ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่หนังเรื่องนี้สร้างฉากเป็นช่วงเวลาแห่งการยึดครองอาณานิคมโดยโลกตะวันตก       ภาพที่เกิดขึ้นในเรื่องจึงเป็นการปะทะสังสรรค์ปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเจ้าอาณานิคม (The Colonists) ชาวอังกฤษผู้เข้ามาปกครองและชนพื้นเมือง (The Natives) ชาว Iban ผู้ถูกปกครอง ซึ่งทั้งสองฝ่ายในเรื่องนั้นมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมกันอย่างสุดขั้ว อีกทั้งชาวอังกฤษและชาว Iban ก็ล้วนมีตัวตนอยู่จริงมาจนถึงปัจจุบัน เช่นนั้นแล้ว การจะดูหนังเรื่องนี้อย่าง “จงใจ” ให้มีนัยยะทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร   แต่ก็ใช่ว่าทุกแง่มุมในเชิงสาขาวิชาดังกล่าวจะได้รับคำตอบครบถ้วน เพราะดังได้กล่าวไปแล้วว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังรัก มิได้เป็นหนังแนวสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาโดยจงใจ แต่มุมมองที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ภาพวัฒนธรรมของชาว Iban ในเรื่องเป็นวัฒนธรรมแบบที่อยู่ในความคิดของ Guy Jenkin ซึ่งเป็นผู้กำกับและเขียนบท เป็นภาพของ Iban จาก “คนนอก” ไม่ใช่จากตัวชาว Iban เอง จึงเป็นเรื่องที่ต้องกล่าวถึงกันต่อไปว่าเป็นความจริงแค่ไหน

เมื่อดูจบ The Sleeping Dictionary เป็นหนังที่น่าจะ “ประทับใจ” ใครหลายๆคน เช่นนั้นจึงขอเสนอสิ่งต่างๆที่มองเห็นผ่านแว่นของ “โลกนอกหนัง” ซึ่งบางสิ่ง อาจจะอยู่ที่ขั้วตรงข้ามของความ “ประทับใจ” ที่หลายๆคนได้รับจากหนังเรื่องนี้

1. ลักษณะทั่วไปของชาว Iban ที่ปรากฏในหนัง

เท่าที่เห็นในเรื่อง Iban เป็นสังคมที่น่าจะมีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แล้ว เนื่องจากมีการตั้งที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

ลักษณะการอยู่อาศัยของชาว Iban ในเรื่องเป็นการอยู่รวมกันหลายๆครอบครัวใน Longhouse เดียวกัน ในชุมชนจะประกอบไปด้วย Longhouse หลายๆหลังรวมกัน ไม่มีการตั้งบ้านเดี่ยวแยกออกไปต่างหาก             บ้านเดี่ยวที่แยกออกไปต่างหากในหนังคือบ้านของผู้ปกครองชาวอังกฤษ        ซึ่งจะมีทั้งแบบที่แยกออกไปอย่างโดดเดี่ยวและแบบที่ตั้งอยู่รวมกันหลายหลัง

ใน Longhouse จะมีลานกว้างภายในซึ่งใช้ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันหรือกิจกรรมตามอัธยาศัย ไม่ปรากฏชัดเจนในหนังว่าภายใน Longhouse แต่ละหลังนั้นมีการแบ่งห้องออกเป็นห้องย่อยของแต่ละครอบครัวด้วยหรือไม่ แต่ละ Longhouse จะมีชื่อเรียกของตัวเอง “ดูเหมือนว่า” แต่ละ Longhouse จะมีผู้นำของตัวเองและจะมีผู้เป็นหัวหน้าของ Longhouse ทั้งหมดที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันอีกระดับหนึ่ง

จากลักษณะดังกล่าวมาทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่าแต่ละ Longhouse เป็นชุมชนย่อยๆในชุมชนใหญ่ของชาว Iban อีกที่หนึ่ง

กรณีหัวหน้าของ Longhouse ในเรื่อง คนหนึ่งกำลังเป็นอยู่และอีกคนหนึ่งจะได้เป็นในอีกสองปีข้างหน้า    นั่นอาจหมายความว่าการสืบทอดตำแหน่งหัวหน้านั้นจะทำเมื่อมีคนที่อายุและคุณสมบัติเหมาะสม (ไม่ได้กล่าวไว้ในเรื่องว่าต้องอายุเท่าไหร่และมีคุณสมบัติอย่างไร) นอกจากนี้ ทั้งสองคนดังกล่าวล้วนเป็นผู้ชาย นั่นอาจสื่อเป็นนัยได้ว่าอำนาจในการปกครองในสังคม Iban นั้นอยู่ในมือของเพศชาย ส่วนบทบาทของเพศหญิงในสังคม Iban ในตัวมันเองนั้นไม่มีความชัดเจนในเรื่อง ส่วนที่ชัดเจนคือผู้หญิงที่ทำหน้าที่เป็น “Sleeping Dictionary” แต่ก็ไม่ชัดเจนนักว่าเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของ Iban หรือเกิดขึ้นหลังจากมีการปะทะสังสรรค์กับประเทศจ้าวอาณานิคมกันแน่

ด้านการเพาะปลูก สิ่งหนึ่งที่ชาว Iban “ในเรื่อง” น่าจะปลูกแน่ๆก็คือข้าว เพราะดูจะเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการหมัก “rice wine” อันดูจะเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาว Iban “ในเรื่อง” ส่วนการเลี้ยงสัตว์นั้น อย่างหนึ่งที่เห็นเลี้ยงแน่ๆ “ในเรื่อง” ก็คือหมู ส่วนอาหารการกินนั้นไม่ปรากฏ

Iban เป็นเผ่าล่าหัวมนุษย์ นั่นอาจเป็นสิ่งหนึ่งใน violent sport ที่มีการกล่าวถึงสั้นๆ (สั้นมาก) ในเรื่อง แต่ก็เห็นได้จากในเรื่องว่า Iban ยังใช้การล่าหัวในการป้องกันการถูกล่วงล้ำอาณาเขตด้วย    ในหนังมีการกล่าวถึงการล่าหัวคนงานทำเหมือนชาวจีนที่ล่วงล้ำอาณาเขตเข้ามา และดูเหมือนการล่าหัวจะเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของ “ผู้ปกครอง” หรือ “ผู้นำ” ด้วย

Iban เป็นชนเผ่าที่ “based on heavy drinking, violent sport and practical joke.” (ตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องกล่าว)          ในเรื่องการดื่มหนักนั้นมีปรากฏครั้งเดียวคือในพิธีต้อนรับพระเอกในเรื่องคือจะมีการดื่ม “rice wine” (เหล้าที่หมักจากข้าว) กัน อีกทั้งการปฏิเสธที่จะดื่มยังหมายถึงการ “ดูถูก” ชาว Iban ด้วย เรื่อง violent sport นั้นก็คงเพราะผู้พูดเห็นว่า Iban เป็นชนเผ่าล่าหัวมนุษย์ ที่น่าสนใจคือการที่ชาวอังกฤษในเรื่องให้ค่าการล่าหัวมนุษย์ว่า violent นั่นแสดงถึงการมองไปยังวัฒนธรรมอื่นโดยใช้บรรทัดฐานของตัวเอง ส่วน practical joke หรือที่ดูจะใกล้กับคำไทยที่สุดคือ “จำอวด” นั้นก็ปรากฏอยู่ในพิธีต้อนรับเช่นกัน ซึ่งการดื่มเหล้าและการแสดง practical joke นั้นน่าจะเป็นประเพณีที่ชาว Iban “ให้ค่า” ว่ามีความสำคัญและอาจถึงขั้นเป็น “เอกลักษณ์” อย่างหนึ่งของตน เพราะถูกนำมาใช้ในพิธีต้อนรับ “ในเรื่อง”

2. ความหลงตัวเอง/ความรุนแรงทางตรง/เชิงโครงสร้าง/เชิงวัฒนธรรมของประเทศจ้าวอาณานิคม

027079_19

The Sleeping Dictionary เปิดเรื่องด้วยการที่ John Truscott (Hugh Dancy) เดินทางมายังหมู่บ้านของชาว Iban ในซาราวัก (ปัจจุบันอยู่ในประเทศมาเลเซีย) เพื่อสานต่อแผนการให้การศึกษาแก่ชาว Iban ของ William C. Truscott ผู้เป็นพ่อของเขา โดย John ถือว่านั่นเป็น “…our duty to educate primitive people” หรือ “I’m on the mission to civilize…” และมันทำให้เขาเลือกมาที่นี่ ต่อการเลือกของ John นั้น  Henry Bullard [(Bob Hoskins) ผู้เป็น “ผู้ปกครอง” (Governor) ใน “เขต” (District) ที่ John ไปอยู่] ตั้งข้อสังเกตว่าระดับการศึกษาของ John นั้น “…too far degree for this job” อันหมายความว่า John สามารถหางานอื่นทำได้โดยไม่จำเป็นต้องพาตัวเองมาตกระกำลำบากในพื้นที่ห่างไกลความเจริญเช่นนี้

**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**

ฟังดูเผินๆ   แนวคิดแบบนี้ช่างน่าสรรเสริญราวกับปัญญาชนผู้มีการศึกษาได้ทำการเสียสละอันยิ่งใหญ่ (คล้ายครูปิยะในหนังไทยเรื่อง “ครูบ้านนอก”?) เป็นการยอมละทิ้งอนาคตสดใสมาอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารเพื่อสร้างแสงสว่างทางปัญญาแก่ชาวป่าอนารยะ ทว่า ในอีกด้านหนึ่ง การกระทำและความคิดของ John และคำพูดสองประโยคข้างต้นของเขาก็สะท้อนให้เห็นถึงตรรกะ (ข้ออ้าง) ของชาติมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคมที่มีต่อเผ่าพันธุ์ในโลกตะวันออกที่ไม่ได้ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมว่าเป็นพวกที่ล้าหลัง ไร้การศึกษา และเป็นหน้าที่ของอารยชนผู้เจริญแล้วอย่างพวกตนที่ต้องเข้ามาหยิบยื่นแบ่งปันความเจริญให้   และความเจริญที่ว่านั้นก็คือการทำให้ Iban มีการศึกษาในแบบที่คนอังกฤษมี ไม่ใช่เป็นการส่งเสริมฐานความรู้ดั้งเดิมของชาว Iban ให้เข้มแข็งขึ้น วิธีคิดแบบนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความ “หลงตัวเอง” (Egoism) ของเหล่า Colonists คือการมองว่าความดี ความเจริญ ความมีอารยธรรมนั้นมีเพียงชุดเดียวคือชุดที่ตนใช้อยู่   ทั้งยังเพิกเฉยละเลยหรือถึงขั้นลดทอนคุณค่าของอารยธรรมอื่นๆด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในหนังก็ยังมีการเสียดสีวิธีคิดแบบ John เรื่อง “…our duty to educate primitive people” ว่า “…you sound a sanctimonious little prig” (Henry เป็นคนพูด) อันหมายความทำนองว่าวิธีคิดแบบนั้นก็เหมือนพวกที่คิดว่า “ตนเองมีศีลธรรมเหนือกว่าคนอื่น” (prig) ทั้งที่จริงๆแล้วตัวเองนั้น “มือถือสากปากถือศีล” (sanctimonious) แถม Henry ยังต่อท้ายให้ในทำนองว่า John นั้นยังเด็กนัก เดี๋ยวซาราวักจะเขี่ยความคิดพวกนั้นทิ้งให้เอง (Still, you’re young. Sarawak’ll knock it out of you.) ซึ่งตรงนี้ก็สะท้อนความคิดของ Henry ด้วยว่าเขาเองได้หลุดจากวิธีคิดพรรค์นั้นไปแล้ว

นอกจากนี้ จ้าวอาณานิคมยังมีลักษณะของการใช้ความรุนแรงสามแบบตามทรรศนะของ Johan Galtung (นักสังคมศาสตร์ชาวนอร์เวย์) อยู่ด้วย กล่าวคือมีการใช้ความรุนแรงทั้งโดย “ทางตรง” อย่างการใช้กำลังเข้ายึดครอง (เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม แต่มิได้กล่าวถึงในเรื่องว่าใช้วิธีเช่นนั้นในการเข้าครอง Iban หรือไม่) การใช้ความรุนแรง “ทางอ้อม” หรือ “เชิงโครงสร้าง” อย่างการใช้กฎหมายที่ตัวเองกำหนดขึ้นในการกำจัดซึ่งสิ่งอันเชื่อว่าจะมาบ่อนเซาะอำนาจการปกครองของตนเอง หรือจะทำให้เกิดการเสียระเบียบ และโดยนัยยะแล้วการใช้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างก็เป็นไปเพื่อลดทอนอำนาจของผู้ที่ตนเข้าไปปกครอง      ซึ่งในกรณีความรุนแรงเชิงโครงสร้างผ่านข้อกฎหมายนี้มีปรากฏชัดเจนอยู่ในตอนท้ายเรื่องคือการตัดสินแขวนคอ Belansai (ตัวเอกชาว Iban อีกคนในเรื่อง รับบทโดย Eugene Salleh) โทษฐานคิดฆ่าเจ้าหน้าที่จากประเทศจ้าวอาณานิคม (Colonial Officer) ในกรณีนี้ “การแขวนคอ” Belansai (หากเกิดขึ้นจริง) จะเป็นการใช้ความรุนแรงทางตรงซึ่งได้รับความชอบธรรมจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่แฝงฝังอยู่ในรูปข้อกฎหมายที่มีการ “ตัดสินแขวนคอ” เป็นบทลงโทษ และทั้งนี้ทั้งนั้น “ความรุนแรงทางตรง” และ “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” ดังกล่าวต่างได้รับการสนับสนุน (ให้ความชอบธรรม) จาก “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” อันหมายถึงมุมมองที่ “ให้ค่า” ตัวเอง (British) ในฐานะอารยชนผู้เจริญแล้วในขณะที่ “ให้ค่า” ชนพื้นเมืองชาว Iban เป็นสิ่งที่ “ต่ำกว่า” หรือเลวร้ายที่สุดคือ “ไม่ใช่คน” ซึ่งย่อมหมายความต่อไปได้ว่าจะทำอะไรกับพวกเขาก็ได้ทั้งนั้น

กรณีการใช้ “ความรุนแรงทางตรง” ที่ได้รับความชอบธรรมจาก “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” ที่มีระบบการให้ค่าดังกล่าวยังเห็นได้ชัดในอีกตอนหนึ่งของเรื่อง นั่นคือเหตุการณ์ที่คนทำเหมืองชาว Dutch (จ้าวอาณานิคมเช่นกัน) จากฝั่งบอร์เนียววางยาชนพื้นเมืองชาว Yakata เพื่อ “กวาดล้าง” (Cleansing) ชาว Yakata ในแถบนั้นออกจากพื้นที่ทำเหมือง (ผลประโยชน์) ของตน

3. อุดมคติเรื่องเพศแบบ Victorian และแบบ Iban ที่ปรากฏในเรื่อง

the_sleeping_dictionary

**เนื่องด้วยไม่อาจหาข้อมูลอุดมคติทางเพศที่แท้จริงของ Iban ได้ อุดมคติดังกล่าวที่จะปรากฏต่อไปจึงเป็นการตีความจากเนื้อหาในหนัง**

ในวันที่สอง Henry และ Melaka (รับบทโดย Michael Lessing Langgi; พ่อของ Belansai และเข้าใจว่าเป็นหัวหน้าของ Longhouse ทั้งหมดในเขตนั้น) ได้พา Selima (Jessica Alba) มาหา John เพื่อให้เธอทำหน้าที่เป็น “Sleeping Dictionary” ของเขา กล่าวคือนอกจากเธอจะต้องสอนภาษาของชาว Iban ให้ John แล้ว Selima ยังต้องทำ “ทุกอย่าง” ที่เป็น “หน้าที่ภรรยา” (wifely duties) ให้กับ John อีกด้วย

**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**

การ “ร่วมหลับนอน” (sleeping) หรือก็คือ “มีเพศสัมพันธ์” นั้น “ถูกกำหนด” เป็น “หน้าที่ภรรยา” อย่างหนึ่งในหนังเรื่องนี้ (จริงๆก็คือในหนังหลายๆเรื่องทั่วโลก) และหน้าที่ดังกล่าวได้สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้ John อยู่ไม่น้อย เพราะ John “อ้าง” ว่าการมีอะไรกันโดยที่ยังไม่ได้แต่งงานนั้นขัดกับ “spirits of my country”

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อังกฤษได้มีการใช้มาตรฐานศีลธรรมทางเพศแบบที่เรียกกันแพร่หลายว่า “Victorian” ซึ่งเป็นอุดมคติทางเพศที่ได้รับอิทธิพลมาจากคริสต์ศาสนาลัทธิ “Puritanism” อุดมคติทางเพศดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคมอย่างหนึ่ง เป็นอุดมคติที่จะยอมรับพฤติกรรมทางเพศแต่เฉพาะที่เกิดในคู่สมรสที่ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาอย่างถูกต้องมาแล้วเท่านั้น พฤติกรรมทางเพศอื่นๆที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดทางศาสนา (แม้กระทั่งการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง) ล้วนถือเป็นความผิดบาป ในกรณีของหนังเรื่องนี้ที่กำหนดว่าเรื่องราวเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1936 เวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่การบังคับใช้ทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรมของอุดมคติทางเพศแบบ Victorian ได้เจือจางไปบ้างแล้ว (อุดมคติทางเพศแบบ Victorian เริ่มเจือจางลงในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และในหนังก็มีประโยคหนึ่งว่า “Back into the Victorian times…” อันแสดงว่าช่วงเวลาดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปแล้ว)

แต่กระนั้น ความที่ฝังรากในวัฒนธรรมมานานและเอื้อประโยชน์ให้ได้ อุดมคติดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่ยึดมั่นถือมั่นกันในหมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางของอังกฤษในฐานะเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะทำให้ตนได้รับการนับหน้าถือตา หรืออย่างน้อยที่สุดคือไม่เป็นที่ติฉินนินทา นั่นทำให้ผู้คนหลังยุค Victorian ยังคงได้รับการปลูกฝังซึ่งค่านิยมทางเพศแบบนั้น ดังจะเห็นได้จากการที่ John ให้เหตุผลกับ Selima เรื่องที่เขาไม่ร่วมหลับนอนกับเธอว่า “…the spirits of my country forbid it” หรือในตอนที่ Selima ถาม John ว่า “Have you ever sleep with a woman” แล้ว John ตอบว่า “I won’t till I get married. That’s our way” นั่นสื่อได้ว่า John ที่น่าจะเป็นชนชั้นกลางคนหนึ่งก็ได้รับการปลูกฝังอุดมคติทางเพศแบบ Victorian มาด้วย เช่นนั้นจึงไม่แปลกหาก John จะต้องรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะให้ Selima ทำ wifely duties ในเรื่องการร่วมหลับนอนให้ แต่เขาเต็มยังใจให้ Selima ทำ wifely duties ในส่วนอื่นอันหมายถึงงานบ้านงานเรือน ซึ่งนั่นก็เป็นผลพวงอย่างหนึ่งจากวิธีคิดในสังคม Victorian ที่จำกัดผู้หญิงให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนและทำงานบ้าน (มีตอนหนึ่งที่ John ตวาดใส่ Selima ทำนองว่า “ถ้าไม่อยากเป็นคนใช้ก็ไม่ต้องเป็น!!”) นอกจากนี้ เมื่อทีแรกที่ Henry บอกว่า Selima จะมาทำ wifely duties ตัว John ก็ถามกลับด้วยการยกตัวอย่างหน้าที่ดังกล่าวออกมาว่า “การเย็บผ้าหรือ?” (sewing?) อันแสดงให้เห็นว่านั่นคือ “หน้าที่ภรรยา” หรือ “งานของผู้หญิง” อย่างหนึ่งในจินตนาการของเขา และนั่นดูจะสอดคล้องกับอุดมการณ์ “อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน” ของผู้หญิงที่ถูกครอบงำโดยสังคม Victorian ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ในตอนที่ Famous (Junix Inoxian) พ่อครัวชาวจีนของ John พา Jasmine (Christopher Ling Lee Ian) ชายรักร่วมเพศมาเพื่อให้ “ช่วยเหลือ” (assist) John แบบ “ส่วนตัว” (private way) ซึ่ง Famous ที่เห็น John ปฏิเสธการจะร่วมหลับนอนกับ Selima คงคิดว่า John ชอบผู้ชาย เมื่อ John เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรแล้วก็โกรธจัด ตรงนี้จะมองว่าเป็นความโมโหของผู้ชายที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นรักร่วมเพศก็คงได้ แต่ก็ยังมองได้ลึกกว่านั้น กล่าวคือด้วยอุดมคติทางเพศแบบ Victorian นั้น การเป็นรักร่วมเพศถือเป็นความผิดบาปอย่างหนึ่งที่อยู่ในความเป็นห่วงเป็นใยของสังคม เมื่อ John ถูกเข้าใจผิดอย่างนั้น ในความรู้สึกของเขาย่อมไม่ใช่แค่การถูกหมิ่นหยามความเป็นผู้ชาย   หากแต่เขายังรู้สึกว่าตัวเองถูกมองเป็นคนบาปอีกด้วย

ในทางหนึ่ง อุดมคติทางเพศแบบ Victorian ก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งประเภท (หรือกดเหยียด) ว่าพฤติกรรมทางเพศแบบใดเป็นของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงหรือชนชั้นล่างด้วย เพราะในความเป็นจริง         การควบคุมของอุดมคติดังกล่าวก็มิได้มีความเคร่งครัดนักในสังคมชนบท

ในกรณีอุดมคติทางเพศของชาว Iban นั้นจะเห็นได้จากตอนหนึ่งในเรื่องคือ Selima พูดกับ John เป็นความว่า “ในประเพณีของชาว Iban นั้น ถ้าชายหญิงตื่นขึ้นมาด้วยกันห้าวันติดต่อกันนั่นคือพวกเขาได้ถูกผูกมัด (หมั้น; engaged) กันแล้ว” นั่นดูจะแสดงถึงอุดมคติเรื่องเพศของชาว Iban ที่อยู่ “ในเรื่อง” ได้เป็นอย่างดีว่าเปิดโอกาสให้ชายหญิงเลือกร่วมหลับนอนกันได้ตามความพึงพอใจ และยังมีช่องว่างไว้ให้สำหรับในกรณีที่ไม่ได้ต้องการการผูกมัดอีกด้วย

4. ความเป็นนักมานุษยวิทยา vs. ความเป็นคนธรรมดา

jma_sleeping_dictionary2-40

Cecilia Bullard (Emily Mortimer) หรือ Cecil เป็นลูกสาวของ Henry เธอจบการศึกษาสาขามานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัย Oxford มาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง Cecil เคยอยู่ที่ซาราวักกับพ่อของเธอจนถึงห้าขวบแล้วจึงถูกส่งกลับอังกฤษ นั่นทำให้เธอมีความทรงจำเกี่ยวกับชาว Iban และเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอ “เลือก” ศึกษาพวกเขาเมื่อตอนทำวิทยานิพนธ์จบการศึกษา มีบางฉากในเรื่องที่ Cecil แสดงภูมิเกี่ยวกับชาว Iban และชนเผ่าอื่นๆในซาราวักออกมา เช่นการที่เธอพยายามเล่าเรื่องของ Sleeping Dictionary แต่ไม่ได้ใช้คำว่า Sleeping Dictionary (ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเธอไม่รู้หรือรู้แต่เลี่ยงที่จะไม่ใช่คำนั้น และเธอมั่นใจมากว่าไม่มีใครรู้เรื่องนี้นอกจากตัวเธอเอง) หรือตอนที่มีการเจอคนป่วยถูกลอยเรือมาตามน้ำ เมื่อ Belansai บอกว่าคนป่วยพวกนั้นเป็นชนเผ่า “ยากาตา” (Yakata) Cecil ก็รีบเสริมว่าสามารถรู้ได้จากสร้อยหิน “Turquoise” ที่ข้อมือพวกเขา และยังออกตัวอีกว่าเธอศึกษาคนพวกนี้ด้วยเช่นกัน

**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**สวมแว่น**

เมื่อดูจากบทสนทนาเกี่ยวกับเวลาในเรื่องแล้วจะพบว่า หลังจากที่ Cecil กลับไปอังกฤษเมื่อตอนห้าขวบแล้วเธอก็ไม่ได้กลับมาที่ซาราวักอีกเลยจนกระทั่งเวลาที่เธอปรากฏตัวขึ้นในหนัง เพราะฉะนั้น “ความจำ” (หรือจะเรียกว่า “ความรู้” ก็ตาม) ที่ Cecil มีเกี่ยวกับซาราวักหลังจากเธอห้าขวบไปแล้วที่เธอพูดออกมาในเรื่องนั้นย่อมมาจากการอ่านหนังสือ (สิ่งที่เธอเรียกว่า “การศึกษา” และเธอก็มักจะเน้นย้ำหลังการให้ข้อมูลต่างๆของตัวเองว่า “I studied…”) ไม่ใช่จากการ “ลงพื้นที่” (fieldwork) จริงและไม่มี “การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม” (participant observation) ในตอนที่ทำวิทยานิพนธ์ นั่นหมายความว่า Cecil “จบการศึกษาระดับเกียรตินิยมมานุษยวิทยาโดยไม่ได้ลงไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนที่เธอทำการศึกษาในตอนที่ทำการศึกษาอยู่” การลงพื้นที่ไปใช้ชีวิตคลุกคลีกับผู้คนที่ตนทำการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นที่นักมานุษยวิทยาต้องปฏิบัติ เป็นสิ่งสำคัญถึงขั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็น “หัวใจ” ของการเป็นนักมานุษยวิทยา แต่ Cecil ไม่มีสิ่งนั้นทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวในเรื่องเป็นช่วงเวลาที่ Participant Observation เป็นสิ่งที่ได้รับการพัฒนาจนน่าจะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปถึงความสำคัญของมันในฐานะเครื่องมือในการศึกษาทาง “ชาติพันธุ์วรรณา” (Ethnography) แล้ว

พฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งของ Cecil ที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงระหว่างเหล่านักศึกษาสาขามานุษยวิทยาที่ได้ร่วมชมภาพยนตร์ในวันนั้นก็คือ การที่ Cecil เข้าไปจัดท่าจัดทาง Selima เพื่อถ่ายรูป เมื่อ Selima แสดงสีหน้าไม่พอใจแล้ว Cecil ก็ยังบอกให้ Selima ทำหน้าอย่างนั้นไว้เพื่อเธอจะได้ถ่ายภาพเก็บไว้ ในสายตาของเหล่าผู้ที่ต้องเป็นนักมานุษยวิทยาในวันหนึ่ง พฤติกรรมของ Cecil นั้นดูไม่เหมาะสม เพราะมันคือการเข้าไปบังคับจัดท่าจัดทางมนุษย์คนหนึ่งราวกับเป็นสิ่งของโดยที่เจ้าตัวไม่ได้เต็มใจให้ทำอย่างนั้น แต่ด้วยความที่ Cecil ในตอนนั้นไม่ได้ไปที่ซาราวักเพื่อทำงานในฐานะนักมานุษยวิทยา จึงเป็นข้อถกเถียงขึ้นมาว่า จำเป็นหรือไม่ที่ผู้ที่เรียนมานุษยวิทยาหรือกระทั่งผู้ที่กล่าวได้ว่าเป็นนักมานุษยวิทยาแล้วจะต้องเป็นนักมานุษยวิทยา

โดยส่วนตัวแล้ว การ “เป็น” อะไรสักอย่างอันเป็นสถานะทางสังคมนั้นคงไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งนั้นตลอดเวลา เพราะหากทำเช่นนั้นก็คงไม่ต่างอะไรกับการลดทอน “ความเป็นมนุษย์” ของตัวเองที่ย่อมต้องมีพฤติกรรมอารมณ์ความรู้สึกตามปรกติ (กระแสหลักอันยากจะควบคุมที่ฝังอยู่ในระกับจิตสำนึก) แบบคนทั่วไป แต่ในกรณีที่ Cecil ทำกับ Selima นั้น สิ่งไม่ดีที่ไม่ว่าจะในฐานะ “นักมานุษยวิทยา” หรือ “มนุษย์ธรรมดา” ก็ไม่ควรทำก็คือการสนใจแต่ความต้องการของตัวเองโดยเพิกเฉยละเลยซึ่งความรู้สึกของคนอื่นนั่นเอง

5. การกลืนกินวัฒนธรรมด้วยการศึกษา

ภารกิจ (mission) หลักของ John ก็คือการให้การศึกษา (แบบที่ชาวอังกฤษมี) กับชาว Iban ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่มีมาก่อนแล้ว เห็นได้จากการที่ Belansai สามารถท่องชื่อกษัตริย์อังกฤษได้รวมทั้งยังบอกได้ว่า John พลาดชื่อราชินีอังกฤษคนไหนไป นั่นหมายความว่า ภารกิจของ John ก็คือการทำให้การศึกษาที่มีอยู่นั้นเป็นระบบ (มีประสิทธิภาพอันก่อเกิดประสิทธิผล) มากขึ้น

วาระซ่อนเร้นของการศึกษาที่อาศัย “การพัฒนา” เป็นฉากบังหน้าก็คือ “การแทนที่วัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์       หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นตัวตนของคนๆหนึ่งด้วยชุดองค์ประกอบแห่งตัวตนแบบใหม่ และตัวตนแบบใหม่นั้นก็คือตัวตนแบบที่รัฐ หรือผู้ได้ประโยชน์จากตัวตนแบบใหม่นั้นต้องการ” ในบางกรณี การศึกษาก็ทำให้เกิดการ “ผสมกลมกลืน” (Assimilation) ทางวัฒนธรรม แต่บางครั้งก็ทำให้เกิด “ความขัดแย้ง” (Conflict) ทางวัฒนธรรมได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ล้วนส่งผลต่อ “สำนึก” ที่ปัจเจกผู้ได้รับการศึกษานั้นมีต่อ “อัตลักษณ์” ของตนเอง

คำถามที่ Belansai ถาม John ทำนองว่าทำไมเขาจะต้องรู้ชื่อกษัตริย์อังกฤษเป็นคำถามที่สำคัญมากเมื่อมองด้วยแว่นแห่งสังคมวิทยาการศึกษา เมื่อมองด้วยใจเป็นกลาง กรณีนี้ถือว่าจ้าวอาณานิคมล้มเหลวในเรื่องการทำให้ชาว Iban เห็นความจำเป็นของการศึกษาแบบที่อังกฤษนำเข้ามา ในขณะเดียวกัน ด้วยคำถามเดียวกันนั้นก็สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาแบบอังกฤษนั้นไม่ “ตอบโจทย์” การดำเนินและดำรงชีวิตของชาว Iban นั่นเพราะ “ความรู้” หรือ “ความจำ” ที่ได้จากการศึกษาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมของชาว Iban การศึกษาดังกล่าวไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้ชาว Iban ได้เจริญเติบโตเป็นชาว Iban อย่างสมแก่สภาพแวดล้อมและวิถีการดำรงชีวิตหรือสังคมของชาว Iban แต่เป็นการศึกษาที่มุ่งเปลี่ยนชาว Iban ให้กลายเป็นสิ่งที่ Belansai เรียกว่า “little Englishmen” อันคงมิได้หมายความเพียงว่า “ชาวอังกฤษตัวเล็กๆ” แต่ฟังแล้วน่าจะตีหมายความได้ลึกถึงขั้นว่าเป็น “มนุษย์ตัวเล็กๆ (มีสิทธิ์เพียงกระเหม็ดหระแหม่หรือถึงขั้นไร้สิทธิ์) ที่อยู่ในเงาครอบงำของความเป็นอังกฤษ”

โดยส่วนตัวแล้ว เป้าหมายที่ควรเป็นในการให้การศึกษาก็คือควรให้การศึกษาที่ “ตอบโจทย์” ความจำเป็นในการดำรงชีวิตโดยยึดสภาพแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและสังคมวัฒนธรรมของผู้ได้รับการศึกษาเป็นที่ตั้ง  มิใช่เอาสภาพแวดล้อมดังกล่าวของสังคมในส่วนที่ให้ค่ากันเองว่า “เจริญแล้ว” เป็นหลัก

6. Sleeping Dictionary: สตรีผู้ควบคุมอำนาจในการถ่ายทอดวัฒนธรรม

คุณสมบัติประการหนึ่งของวัฒนธรรมก็คือ “สามารถถ่ายทอดส่งผ่านได้” และเมื่อมองไปยังโลกที่มี “ภาษา” เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารถ่ายทอดสิ่งต่างๆ คงไม่เป็นการเกินจริงหากจะกล่าวว่า “ผู้ควบคุมการภาษาคือผู้มีอำนาจเหนือวัฒนธรรม” และเมื่อเป็นเช่นนั้น Sleeping Dictionary อย่าง Selima ก็คือผู้มีอำนาจนั้นนั่นเอง

บทสรุป: The Sleeping Dictionary ในประเทศไทย

ประเทศไทยยุคก่อนรัตนโกสินทร์รวมทั้งรัตนโกสินทร์ตอนต้น   (หรือกระทั่งตอนกลางๆอย่างสมัยรัชกาลที่ห้า) ล้วนมีลักษณะของการขยายอำนาจด้วยการ “ล่าอาณานิคมภายใน” โดยมีทั้ง “ความรุนแรงทางตรง” “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” และ “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” เป็นเครื่องมือ      ด้วยความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่ให้ค่าบุญญาบารมีแก่กษัตริย์ผู้สามารถขยายดินแดนให้กว้างใหญ่ไพศาล บุรพกษัตริย์องค์แล้วองเล่าล้วนใช้ความรุนแรงทางตรง (สังเวยเลือดไพร่มากมายในการกรีฑาทัพเข้ายึดครอง) เชิงโครงสร้าง (การสร้างระบบการส่งเครื่องบรรณาการและการจำกัดอำนาจในการเคลื่อนไหวด้วยข้อระเบียบต่างๆหรือกลายเป็นกฎหมายในเวลาต่อมา) ต่อมาเมื่อคิดใช้การศึกษาแบบตะวันตกเพื่อแสดงความเป็นอารยะอันทัดเทียม    การศึกษาดังกล่าวก็ล้วนเป็นไปเพื่อเปลี่ยนทุกความแตกต่างในอาณาจักรให้กลายเป็น “little Thais” อย่างที่ความหลงตัวเองของชนชั้นอำนาจในส่วนกลางอยากให้เป็น การตัดสินใจ (จำใจ?) อยู่ร่วมกับ “โลกาภิวัฒน์” ด้วยการทำสนธิสัญญาเบาวน์ริ่งได้เปิดทางให้ค่านิยมตะวันตกมากมายหลั่งไหลเข้ามา หนึ่งในนั้นย่อมไม่พ้นอุดมคติทางเพศแบบ Victorian ที่ไม่มีการปรับใช้ สิ่งที่คงไว้คือการใช้ “พฤติกรรมทางเพศ” เป็นตัวชี้วัดคุณค่ามนุษย์ ทั้งยังช่วยส่งเสริมผู้ชายที่ใช้เครื่องเพศอย่างุสุรุ่ยสุร่ายให้กลายเป็น “ขุนแผน” อย่างลอยหน้าลอยตา ตีตราผู้หญิงที่มีพฤติกรรมทางเพศในแบบเดียวกับขุนแผนเหล่านั้นให้กลายเป็น “โมรากากี” เพศที่สามทั้งหลายกลายเป็นความ “วิปริต” ที่ใช้เวลานานมากกว่าจะพอได้มีคุณค่า (ทางลมปาก) อย่างมนุษย์ ทั้งสิ่งที่ดูพอจะกลายเป็น Sleeping Dictionary สตรีผู้มีอำนาจในการควบคุมการถ่ายทอดวัฒนธรรมก็กลับถูกตีตราว่าคือ “ผู้หญิงที่อยากมีผัวฝรั่งเพื่อยกระดับฐานะทางการเงินของตัวเอง”

**ถอดแว่น**ถอดแว่น**ถอดแว่น**ถอดแว่น**ถอดแว่น**ถอดแว่น**ถอดแว่น**ถอดแว่น**ถอดแว่น**

Posted in บทความ | 5 Comments »

หมีดูการ์ตูน: Courage the Cowardly Dog

Posted by ปราชญ์ วิปลาส บน 16 กันยายน, 2008

มาดูการ์ตูนเรื่องนี้กันเถอะ

Courage the Cowardly Dog

ปราชญ์ วิปลาส

 

 

 

 

ก่อนหน้านี้หมกมุ่นกับการ์ตูนเรื่องหนึ่งค่อนข้างมาก ซึ่งการ์ตูนเรื่องที่ว่าก็คือ “Courage the Cowardly Dog: หมาน้อยผู้กล้าหาญ” ออกอากาศทางช่อง Cartoon Networks ออกอากาศทุกวันเวลา 03.00 น. 13.25 น. และ 21.25 น. ส่วนวันเสาร์มีแค่ตอน 03.00 น. และวันอาทิตย์ออกอากาศเวลา 03.00 น. 07.25 น. และ 14.40 น.

 

ตามท้องเรื่อง Courage เป็นหมาสี Fuchsia (ผมก็ไม่รู้จะเรียกว่าสีอะไร แต่เท่าที่เห็น มันคล้ายม่วงผสมบานเย็น แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายผมจะเหมาเป็นสีม่วงแล้วกัน) อาศัยอยู่กับ Muriel หญิงชราที่เก็บมันมาเลี้ยงและ Eustace สามีของเธอ ทั้งสามอยู่ในเมืองสมมติที่ชื่อ Nowhere (พวกเขาอาศัยอยู่ใน middle of Nowhere) ในรัฐ Kansas และในแต่ละตอน ครอบครัวนี้จะต้องเผชิญหน้ากับวินาศภัยพิลึกๆที่นึกแทบไม่ถึง ตัวอย่างเช่น มนุษย์ต่างดาวที่มาดูดเอาความใจดีไปรักษาโรค หุ่นยนต์ต่างดาวที่มาจับพวกเขาทำงานเพื่อพิสูจน์อำนาจตัวเอง คำสาปลึกลับของหญิงพเนจรที่มาขอความช่วยเหลือ หญิงปล้นธนาคารที่มีสามีเป็นมือข้างเดียว (พอมาเขียนถึงแล้วผมเพิ่งนึกได้ว่ามันก็ดูลามกเล็กๆอยู่นะ กับหญิงแก่ที่มีสามีเป็นมือข้างเดียวน่ะ) สองตอนล่าสุดที่ผมดูนี่ตอนหนึ่งเป็นพวกวัลคีรีย์ (นักรบเทพตามตำนาน Norse) มาจับ Muriel ไป ส่วนอีกตอนเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ แน่นอนว่าเจ้าหมาสีม่วงแสนขี้ขลาดตัวนี้นี่แหละที่ช่วยให้ Muriel และ Eustace รอดจากอันตรายมาได้ทุกครั้ง (ส่วนใหญ่จะเป็น Muriel ที่ได้รับความช่วยเหลือ Eustace นั้นถึงจะรอดมาด้วยแต่ก็มักโดนอ่วมเสียมากกว่า และบางครั้งยังเป็นตัวก่อเรื่องเสียเองอีกด้วย)

 

ในทุกตอน สิ่งที่เราไม่มีวันไม่ได้เห็นเลยก็คือภาพความตกใจกลัวของ Courage เจ้าหมาสีม่วงตัวนี้ตกใจได้น่าตกใจมาก เบาที่สุดที่ผมเห็นก็คือ ตัวมันจะลอยขึ้น แขนขาและขนสั่นระรัว ส่งเสียงร้องจนปากสั่นระริก เรียกว่าร้องจนหูตาแหกก็ได้ หนักขึ้นมาอีกคือร้องจนฟันร่วงหมดปาก ที่หนักที่สุดจนผมต้องนึกในใจว่านี่มันการ์ตูนเด็กแน่หรือก็คือ มันร้องจนเครื่องในทั้งหมดไหลออกมาทางปาก กองทับตัวมันไว้ หัวใจที่อยู่บนยอดเต้นตุบๆ แต่ผมดูแล้วก็ขำแทบจะเครื่องในพุ่งออกมากองเหมือนกัน เขียนมาอย่างนี้แล้วผมว่ามันก็ฟังดูน่ากลัวนะ แต่ลองดูการ์ตูนเรื่องนี้สักครั้งเถอะ ผมว่ามันตลกดีในระดับหนึ่งทีเดียว

 

อยากพูดถึงสิ่งต่างๆที่เห็นจากตัวละครหลักในการ์ตูนเรื่องนี้…

 

อย่างแรก ตัว Eustace ที่เป็นสามีของ Muriel บุคลิกของเขาคือเป็นคนโผงผาง ชอบสั่ง สั่งด้วยความหงุดหงิด ห่วงแต่เรื่องของตัวเอง และคำสั่งนั้นคือตัวแทนของการเรียกร้องความสนใจ ทุกตอนที่มีฉากการรับประทานอาหาร ผมจะเห็น Eustace ออกคำสั่งกับ Muriel อยู่เสมอ ที่ได้ยินบ่อยๆก็คือ “อาหารเช้าของฉันล่ะ?” และยังมักว่า Courage บ่อยๆว่า “เจ้า (ไอ้) หมาโง่!!” (เป็นประโยคที่ไม่มีตอนไหนเลยที่จะไม่ได้ยิน)

 

ในทางจิตวิทยาบุคลิกภาพแล้ว ผมมองว่านั่นเป็นรูปแบบที่ชัดเจนของคนแก่ที่หงุดหงิดอยู่ตลอดเวลาเพราะไม่อาจสมานความเสื่อมถอยของร่างกายตามวัยให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ ส่วนการแสดงความก้าวร้าวผ่านการออกคำสั่ง นั่นคือแรงสะท้อนจากความกังวลใจของคนแก่ที่หวาดกลัวว่าร่างกายที่เสื่อมลงไปตามกาลเวลาจะทำให้ตนไม่ได้รับความสนใจเหมือนเดิม อาจมองได้ว่าเป็นความถดถอยของบุคลิกภาพ เป็นการกลับไปใช้บุคลิกภาพอย่างเด็กที่เรียกร้องความสนใจด้วยการแสดงอาการก้าวร้าวออกมา

 

ในตอนหนึ่งที่ผมดู Eustace อิจฉาที่ Muriel โอ๋และเข้าข้าง Courage ไปเสียทุกเรื่อง เขาตัดสินใจโทรเรียกมนุษย์ต่างดาวหลายสายพันธุ์ที่เคยอาละวาดในเรื่องมาจัดการกับ Courage แต่แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครเก่งกาจเกินเจ้าหมาสีม่วงที่ต้องการจะปกป้อง Muriel เจ้านายอันเป็นที่รักของมัน ถึงมันจะโดนยำจนเละก็เถอะ 

 

เมื่อวิเคราะห์บุคลิกภาพด้วยหลักของ “Enneagram” หรือ “นพลักษณ์” ซึ่งแบ่งบุคลิกภาพของมนุษย์เป็นเก้าแบบตามแรงจูงใจ เรียกสั้นๆเป็นลักษณ์หนึ่งถึงลักษณ์เก้า Eustace จัดเป็นคนลักษณ์แปด คำจำกัดความที่เป็นที่นิยมมากที่สุดสำหรับคนลักษณ์นี้ก็คือ “เจ้านาย” และแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้คนลักษณ์นี้แสดงควาก้าวร้าวออกมาก็คือต้องการพิสูจน์อำนาจของตัวเอง ซึ่งผมมองว่าอาการก้าวร้าวและชอบสั่งของ Eustace นั้นเป็นไปเพราะเขาต้องการพิสูจน์ว่าตัวเองยังมีอำนาจอยู่ และไม่มีอะไรมาควบคุมตัวเองได้

 

อย่างที่สอง ตัว Muriel ที่เป็นภรรยาของ Eustace และเป็นผู้ที่เก็บ Courage มาเลี้ยง ภาพลักษณ์ปรกติของ Muriel ที่เราจะเห็นจากในเรื่องก็คือหญิงแก่ใจดีที่คอยทำงานบ้าน ดูแล Eustace และ Courage ส่วนนิสัยที่แสดงออกเวลาเจอกับคนแปลกหน้าก็คือความมองโลกในแง่ดีและยินดี (ต้องการ) จะช่วยเหลือคนเหล่านั้น ซึ่งหากวิเคราะห์บุคลิกตามหลัก Enneagram แล้วผมคิดว่า Muriel น่าจะเป็นคนลักษณ์สองหรือ “ผู้ให้”

 

ดูโดยผิวเผินแล้วคนลักษณ์สองจะเป็นคนมีน้ำใจ (ซึ่งก็เป็นคนอย่างนั้นจริงๆ) แต่แท้จริงแล้วความมีน้ำใจนั้นมีไว้เพื่อควบคุมผู้อื่น แต่เป็นการควบคุมด้วยการคอยดูแลทำสิ่งต่างๆให้ ไม่ใช่ใช้อำนาจรุนแรงโดยตรงอย่างลักษณ์แปด

 

นอกจากนี้ ลักษณ์แต่ละลักษณ์ยังสามารถแสดงบุคลิกของลักษณ์อื่นที่เชื่อมโยงกันด้วยลูกศรในสัญลักษณ์รูปเก้ามุมของ Enneagram โดยหนึ่งลักษณ์จะมีลูกศรเชื่อมโยงอยู่กับอีกสองลักษณ์ ซึ่งตัวแปรที่จะทำให้แสดงลักษณะของลักษณ์อื่นที่ไม่ใช่ลักษณ์หลักประจำตนออกมาก็คือ “ภาวะมั่นคง” และ “ภาวะตึงเครียด”

 

ลักษณ์สองจะเชื่อมโยงอยู่กับลักษณ์สี่และลักษณ์แปด ภาวะมั่นคงจะทำให้ลักษณ์สองแสดงลักษณะความสนใจหรือบุคลิกแบบลักษณ์สี่ออกมา แต่กับตัว Muriel นั้น ผมยังไม่เคยเห็นสถานการณ์ดังกล่าว แต่ถ้าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสู่ลักษณ์แปด ก็พอจะมีตัวอย่างที่ชัดเจนอยู่

 

โดยลักษณะแล้ว การช่วยเหลือคนอื่นก็คือกลไกป้องกันตัวของลักษณ์สอง ลักษณ์สองมักแสดงตนเหมือนไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร แต่ใครต่อใครต่างหากที่อยู่ไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือของตัวเอง ทั้งที่ความจริงแล้ว ลักษณ์สองเองต่างหากที่จะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีใครให้ตัวคอยช่วยเหลือ นั่นเพราะเขาเรียนรู้ว่าการทำตามความต้องการของคนอื่นจะทำให้ตนได้รับความรัก

 

มีอยู่ตอนหนึ่งที่ Muriel รู้สึกว่าการช่วยเหลือของตนนั้นช่างไร้ค่า เพราะ Eustace ดูจะไม่สนใจทั้งยังเอาแต่สั่ง (ซึ่งนั่นหมายถึงควบคุม) มากไป Muriel ประกาศกร้าวว่าจะไม่พูดอะไรอีกจนกว่า Eustace จะเห็นความสำคัญของเธอ แต่นั่นก็ยังเป็นการต่อสู้โดยเอาความต้องการของผู้อื่นเป็นหลัก (เป็นสิ่งขัดขวางการพัฒนาของลักษณ์สอง) คือแม้ขัดขืนและขบถต่อเจตจำนงของคนอื่น แต่แท้จริงแล้วก็ยังหมกมุ่นอยู่กับความใส่ใจของคนอื่นอยู่ดี เห็นได้ชัดจากตอนสุดท้าย ที่ Muriel ยอมพูดก็เพราะเสียงพูดของเธอจะช่วยเหลือทุกคนจากสัตว์ประหลาดที่บุกมาได้ (นี่ก็ฝีมือ Courage อีก มันไปขอให้แม่หมอยิปซีช่วยให้ Muriel ยอมพูดอีกครั้ง แม่หมอเลยเสกสัตว์ประหลาดที่ถูกกำจัดได้ด้วยเสียงพูดของ Muriel เท่านั้นมาบุก)

 

อย่างที่สาม ตัวเจ้าหมาสีม่วง Courage นี่สำคัญทีเดียว เพราะผมเห็นอะไรในตัวมันค่อนข้างเยอะ

 

ประการแรก เมื่อวิเคราะห์บุคลิกภาพด้วย Enneagram ถ้า Courage เป็นคนก็น่าจะจัดอยู่ในประเภทลักษณ์หกหรือ “นักปุจฉา” ซึ่งแรงจูงใจของคนลักษณ์นี้คือความกลัว ความหวาดระแวง ความไม่ไว้ใจโลกใบนี้จนเป็นเหตุให้ต้องคอยตั้งคำถามกับสิ่งที่ต่างๆเพื่อป้องกันตัว Courage ไม่เคยต้อนรับแขกด้วยความยินดี มันมักมองพวกเขาด้วยสายตาหวาดระแวงเสมอ ซึ่งเมื่อมองดูจากรูปแบบวินาศภัยอันพิสดารที่มันต้องผจญยามอยู่ในเมือง Nowhere แล้ว ก็ดูสมเหตุสมผลดีที่มันจะเติบโตมากับโลกทัศน์แบบนั้น

 

ใน Enneagram คนลักษณ์หกยังแบ่งออกตามรูปแบบปฏิกิริยาต่อความกลัวได้อีกสองประเภทคือ “กลัวแล้วหนี” (Phobic) กับ “กลัวแล้วสู้” (Counter-Phobic) ผมมอง Courage เป็นพวกแรก กลัวจนหูตาแหก หนีป่าราบอยู่เรื่อย นอกจากนี้ Courage ยังเป็นตัวละครที่เราสามารถพิจารณาพลวัตรของบุคลิกภาพในภาวะมั่นคงและภาวะตึงเครียดตามวิธีของ Enneagram ได้อีกด้วย โดยลักษณ์หกนั้นจะเชื่อมโยงอยู่กับลักษณ์สามและลักษณ์เก้า

 

คนลักษณ์หกที่อยู่ในภาวะมั่นคงจะแสดงลักษณะของคนลักษณ์เก้าออกมา เริ่มคลายความหวาดระแวงที่มีต่อสิ่งต่างๆ ทำตัวสบายๆจนอาจกลายเป็นเฉื่อยชา หากไม่มองว่าเป็นธรรมชาติของหมา ภาพของ Courage ที่นอนสบายและมีสีหน้าผ่อนคลายอยู่บนตัก Muriel ก็สื่อถึงบุคลิกของลักษณ์หกในภาวะมั่นคงได้ดีทีเดียว

 

ส่วนในภาวะตึงเครียด เมื่อเผชิญกับแรงกดดันถึงขีดสุด ลักษณ์หกจะแสดงลักษณะของลักษณ์สามออกมา คือจะเลิกคิดนั่นนี่ให้เสียเวลา จะกลายเป็นคนที่ลงมือทำในทันที เห็นได้ชัดเมื่อ Courage กลัวจนหูตาแหกไประยะหนึ่งแล้ว มันจะกลับมาทำทุกอย่างเพื่อปกป้องบ้านใหม่ของตัวเอง

 

ประการที่สอง ส่วนนี้เป็นการเชื่อมโยงภาพที่ปรากฏในการ์ตูนเข้ากับความเป็นจริง/ประสบการณ์ของตัวเอง ทุกครั้งที่ดูการ์ตูนเรื่องนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมคือเสียงหัวเราะ หัวเราะกับท่าทางอันน่าตลกขบขันของเจ้าหมาสีม่วง หัวเราะกับรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปตามความกลัวอันวิจิตรวิตถารของมัน หัวเราะกับสภาพยับเยินของ Eustace ในหลายๆตอน สิ่งเหล่านั้นล้วนกระตุ้นให้ผมนึกถึงเวลาที่ตัวเองหรือคนอื่น (ที่ผมสังเกต) หัวเราะสิ่งต่างๆ และเมื่อประกอบกับการอ่านมานิดๆหน่อยๆเกี่ยวกับนัยความหมายที่ซ่อนอยู่ในเสียงหัวเราะ เสียงหัวเราะที่มีให้กับการ์ตูนเรื่องนี้ช่วยยืนยันแนวคิดที่ว่า “เราสามารถใช้เสียงหัวเราะกับสิ่งที่เรารู้สึกว่ามีสถานะเท่ากับเราหรือต่ำกว่าเรา” ได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงจุดนี้ผมจะไม่อธิบาย แต่อยากให้คิดต่อและลองสังเกตกันดู

 

อนึ่ง ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็เป็นอย่างที่ผมมักพูดถึงการดูหนัง กล่าวคือมันเป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่ปรากฏในจอกับความเป็นจริง/ประสบการณ์ของตัวเรา เพราะฉะนั้น ถ้าใครได้ลองดูการ์ตูนเรื่องดังกล่าวแล้วมีผลของการเชื่อมโยงเป็นแบบใดก็อยากให้ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกันบ้างครับ

Posted in บทความ | 19 Comments »

หมีดูหนัง: The Village (2004)

Posted by ปราชญ์ วิปลาส บน 12 กันยายน, 2008

หมีดูหนัง: The Village (2004)

บทเพิ่มเติมและตกหล่นจากเสวนาวิชาการว่าด้วยภาพยนตร์เรื่อง The Village (2004) ในแง่มุมทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

ปราชญ์ วิปลาส

เพราะมีโอกาสได้เป็นผู้นำการเสวนาดังกล่าว และรู้สึกว่ายังมีหลายอย่างที่ไม่ได้พูด ทั้งเรื่องที่พูดไปแล้วก็รู้สึกว่ายังพูดไม่ชัดเจน เลยเป็นที่มาของบทความนี้ เผื่อว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการเสวนาเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วย

***SPOILER**SPOILER**SPOILER**SPOILER**SPOILER**SPOILER**SPOILER**SPOILER***

โดยส่วนตัว เมื่อดูหนังแล้วผมจะเกิดการเปรียบเทียบสิ่งที่ปรากฏในหนังกับความเป็นจริง (หรืออาจจะเรียกว่าประสบการณ์ก็ได้) และผมเชื่อว่า การเปรียบเทียบสิ่งที่ปรากฏในหนังกับความเป็นจริง/ประสบการณ์นั้นเกิดขึ้นกับทุกคน เห็นได้ชัดและง่ายที่สุดจากการที่เราดูหนังสักเรื่องแล้วบอกว่าชอบหรือไม่ชอบหรือรู้สึกอย่างไรกับมัน นั่นเกิดจากการเปรียบเทียบสิ่งที่เห็นในหนังเข้ากับความเป็นจริง/ประสบการณ์ของเรา แล้วสื่อสารออกมาว่าหนังกับความเป็นจริง/ประสบการณ์ของเรานั้นมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร

ผมปฏิเสธที่จะดูหนังแล้วคิดว่ามันก็เป็นแค่หนัง แค่เรื่องที่แต่งขึ้น เป็นเพียงจินตนาการ เพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดจากจินตนาการ เกิดขึ้นจากความคิด และความคิดของมนุษย์เกิดจากการมี “สัมพันธ์” กับสังคม เช่นนั้นแล้ว ผมจึงมองว่า หนังเป็นการยกระดับความคิดจากการที่มีอยู่แต่เพียงในหัวผู้สร้างสู่การมี “ปฏิสัมพันธ์” กับสังคม เป็นการสะท้อนว่าสังคมได้ฉายภาพความคิดแบบไหนลงไปในหัวผู้สร้างหนังบ้าง

เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้ว จะเป็นหนังที่หลุดโลกไปเลยมากๆ หรือต่อให้เป็นหนังที่ใครต่อใครตราหน้าว่ามันห่วยเห่ยยับเยิน (ไม่ว่าจะทางอารมณ์ความรู้สึกหรืออย่างเป็นศาสตร์การผลิต) ขนาดไหน หนังทุกประเภทล้วนฉายออกมาซึ่งสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้สร้าง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของสังคมที่ขัดเกลาผู้สร้างหนัง และในขณะเดียวกัน สิ่งที่เราได้จากการดูหนังก็สะท้อนถึงสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเรา ซึ่งสะท้อนภาพของสังคมที่ขัดเกลาตัวเราเช่นกัน

ผมดูหนังของ M. Night Shyamalan ในเวทีฮอลลีวูดทุกเรื่อง สำหรับ The Village ผมได้ดูเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว และเป็นแรงบันดาลใจให้อยากดูหนังของผู้ชายคนนี้ทุกเรื่องตลอดไป อย่างน้อยความรู้สึกนั้นก็เป็นจริงในตอนนี้

ตอนที่ดู The Village ครั้งแรก ผมดูทั้งๆที่รู้มาก่อนแล้วว่ามันเป็นหนังที่จบแบบหักมุม รู้กระทั่งว่าหักมุมที่ว่ามันหักยังไง ปรกติแล้ว การดูหนังประเภทจบหักมุมด้วยความรู้ก่อนดูแบบนั้นน่าจะทำลายอรรถรสของหนังไป แต่ทั้งที่รู้อย่างนั้นความตื่นเต้นของผมกลับไม่ลดลงไปแม้แต่น้อย กลับกัน การที่รู้จุดจบของเรื่องมาก่อนทำให้ผมตั้งคำถามต่อเนื้อหาในเรื่องใหม่ แทนที่จะถามว่า “อะไร” ผมกลับถามว่า “ทำไม” และ “อย่างไร”

The Village คือเรื่องราวของคนเก้าคนที่สูญเสียคนสำคัญในชีวิตไปเพราะสิ่งที่สังคมเรียกว่า “อาชญากรรม” (crime) ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ พวกเขาได้พบเจอกันใน “ศูนย์ให้คำปรึกษา” (Counseling Center) แบ่งปันแลกเปลี่ยนความเจ็บปวดจากการสูญเสียซึ่งกันและกัน และในที่สุด Edward Walker อาจารย์สอนประวัติศาสตร์แห่ง University of Pennsylvania ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ต้องเจ็บปวดจากการสูญเสียเช่นกันก็ได้เสนอความคิดเรื่องการหันหลังให้สังคมแล้วไปตั้งชุมชนหมู่บ้านดังที่ปรากฏในเรื่องขึ้นมา

สิ่งที่ผมเห็นเยอะที่สุดใน The Village ก็คือความกลัว ความกลัวอันเกิดจากวาทกรรมเรื่อง Those we do not speak of (ปีศาจชุดแดงในเรื่อง) ที่ The Elder (กลุ่มคนทั้งเก้าดังกล่าวไปแล้ว) สร้างขึ้น ความกลัวที่บังคับย่างก้าวของสมาชิกหมู่บ้านทั้งหมดไม่ให้ก้าวพ้นแนวป่าที่มีธงสีเหลือง เว้นแต่ตัว The Elder เองที่ยังต้องก้าวพ้นไปสวมบทลับล่อของ Those we do not speak of เพื่อรักษาความกลัวของหมู่บ้านไว้

ผมเรียกเรื่องราวของ Those we don’t speak of ว่าเป็นวาทกรรมเพราะเห็นว่านอกจากจะมีกระบวนการสร้างความหมายให้มันแล้ว The Elder ยังคงมีกระบวนการในการรักษาความหมายของมันไว้ด้วย

การถูกครอบงำด้วยความกลัวจากวาทกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดสภาวะที่ Michel Foucault เรียกว่า Les Corps Docile (ชื่อบทหนึ่งใน Surveiller et Punir; Discipline & Punishment) หรือเป็นภาษาไทยภายใต้สำนวนและชื่อหนังสือแปลของ ทองกร โภคธรรม ว่า “ร่างกายใต้บงการ” และในความรู้สึกของผม บางส่วนของวาทกรรมดังกล่าวยังสร้าง “มายาคติ” (Myths) ขึ้นใน The Village ด้วย

สภาวะร่างกายใต้บงการ

การทำงานของความกลัวที่มีต่อ Those we don’t speak of ใน The Village เป็นไปในลักษณะดังนี้

[1] การสร้างความเชื่อครอบงำที่ว่า “Those we don’t speak of เป็นสิ่งที่ถ้าเราไม่ล่วงล้ำเข้าไปในป่า พวกเขาก็จะไม่บุกรุกเข้ามาในหมู่บ้าน” จะเห็นได้ว่าตัวตนของ Those we don’t speak of ที่ The Elder สร้างไว้ในหมู่บ้านมีความเป็น “ปฏิปักษ์” กับหมู่บ้านแฝงอยู่ โดยความเป็นปฏิปักษ์ดังกล่าวจะแสดงออกมาเมื่อมีการล่วงล้ำเข้าไปในอาณาเขตของ Those we don’t speak of

[2] สร้างอัตลักษณ์ของ Those we don’t speak of ให้ดูเป็นสิ่งที่น่ากลัว เชื่อว่าเป็นไปเพื่อสนับสนุนข้อ (1) เพื่อไม่ให้มีการล่วงล้ำเข้าไปในป่า สังเกตได้จากฉากการสนทนาในห้องเรียนระหว่าง Edward Walker กับเด็กๆหลังจากที่เจอลูกสัตว์ถูกฆ่าถลกหนัง เมื่อ Edward Walkerใช้คำว่า “culprit” ที่สามารถแปลได้ว่า “ผู้ร้าย” ถามนำให้เด็กๆนึกว่าใครเป็นคนทำเรื่องโหดร้ายดังกล่าวแล้วเด็กๆก็นึกถึง Those we don’t speak of ขึ้นมาในทันที และเด็กๆยังพูดถึงลักษณะของ Those we don’t speak of ว่าเป็น “พวกกินเนื้อ” และ “มีกงเล็บขนาดใหญ่” ทั้งที่พวกเด็กๆไม่เคยเห็น Those we don’t speak of

[3] ตั้งเสาธงเหลืองที่ถือเป็น “สีปลอดภัย” (safe color) ไว้ตามชายป่าที่สุดเขตหมู่บ้านและต้องมีคนคอยไปป้ายสีเหลืองที่เสาดังกล่าว

[4] The Elder สวมชุด Those we don’t speak of มาปรากฏตัววับๆแวมๆให้เห็นแถบชายป่า

[5] มีการทำเสียงของ Those we don’t speak of ให้ดังออกมาจากในป่า

[6] ตั้งหอสังเกตการณ์ล่วงล้ำของ Those we don’t speak of เพื่อสั่นระฆังเตือนภัย

[7] ให้สร้างห้องใต้ดินไว้หลบภัยในกรณีที่ Those we don’t speak of บุกเข้ามาในหมู่บ้าน

[8] สร้างความหมายให้ “สีแดง” เป็น “สีชั่วร้าย” (bad color) โดยให้เหตุผลว่าสีดังกล่าวจะดึงดูด Those we don’t speak of เข้ามา

ข้อ [1] และ [2] คือวาทกรรม Those we don’t speak of เป็นส่วนของการให้ความหมายกับ Those we don’t speak of ส่วนข้อ [3] ถึง [8] ผมเห็นว่าเป็นกระบวนการรักษาความหมายของ Those we don’t speak of ภายใต้เนื้อหาของวาทกรรมที่ The Elder สร้างขึ้น

ในข้อ [1] ถึง [5] เป็นการบังคับร่างกายของสมาชิกในหมู่บ้านไม่ให้เดินทางออกนอกเขตหมู่บ้าน ในข้อ [6] และ [7] ทันทีที่เสียงระฆังเตือนว่า Those we don’t speak of บุกเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านทุกคนก็รีบเข้าบ้านและลงไปซ่อนตัวในห้องใต้ดิน ข้อ [8] ฉากชาวบ้านสองคนกวาดลานบ้านตอนต้นเรื่อง ทันที่พวกเธอเห็นช่อลูกเบอรี่สีแดงพวกเธอก็รีบเอามันไปฝังในทันที

ทั้งหมดคือร่างกายใต้บงการภายใต้วาทกรรม Those we don’t speak of ที่ผมมองเห็นใน The Village

มายาคติ

ในข้อ [3] และ [8] ชาวบ้านถูกทำให้เชื่อว่าสีแดงนั้นเป็นสีชั่วร้ายตามธรรมชาติ ความชั่วร้ายเป็น “nature” ของสีแดง ในทางกลับกัน ความปลอดภัยก็เป็น “nature” ของสีเหลือง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วนั่นไม่ใช่ “nature” หากแต่เป็น “nurture” หรือเป็นธรรมชาติที่ถูกสร้างขึ้น เกิดจากการปลูกฝัง ไม่ใช่ธรรมชาติจริงๆของสีทั้งสอง แลความน่ากลัวทั้งหมดของ Those we don’t speak of ก็ไม่ใช่เรื่องจริง หากแต่เป็นความจริงที่ถูกสร้างขึ้นและทำให้เชื่อว่าเป็นจริงตามธรรมชาติ ทำให้สีทั้งสองมีความหมายมากกว่าความเป็นสี หากแต่มีความหมายในเชิงค่านิยมหรืออุดมการณ์ ซึ่งถ้าจะยกตัวอย่างอย่าง Roland Barthes ผู้เขียนเรื่อง “มายาคติ” ก็คล้ายกับการที่เราให้เด็กเล่นของเล่นที่จำลองจากสิ่งที่มีอยู่ในสังคมมานานจนเหมือนว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง แล้วเด็กก็เชื่อว่านั่นคือธรรมชาติของสังคม เป็นการจำกัดกรอบความคิด (อาจโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ แต่ใน The Village ตั้งใจ)

………………………………………………………

ต่อคำถามที่ว่าแล้วทั้งวาทกรรมและมายาคติดังกล่าวมีไว้เพื่ออะไร ก็ต้องดูถึงสาเหตุที่คนทั้งเก้าหันหลังให้สังคมเมืองมาสร้างหมู่บ้านของตัวเอง ซึ่งก็คือความเจ็บปวดจากการสูญเสียคนสำคัญไปทำให้พวกเขากลัวที่จะต้องกลับไปมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมอีกนั่นเอง

ที่น่าสนใจ จากผู้ก่อตั้งเพียงเก้าคนและ Lucius Hunt ในวัยเด็กซึ่งเป็นลูกชายของ Alice Hunt หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้ง ผู้ก่อตั้งก็ยังผลิตลูกหลานออกมาอีก นั่นหมายความว่า ความตั้งใจของกลุ่มผู้ก่อตั้งไม่ได้มีแค่ปิดขังตัวเองจากโลกภายนอกหรือสังคมที่ตัวเองไม่อาจอยู่ร่วมได้ หากแต่ยังปรารถนาจะสร้างโลกแบบใหม่ขึ้นมาในพื้นที่ปิดล้อมนั้น โลกแบบที่ตัวเองเชื่อว่าดีกว่า และปรารถนาที่จะให้ทุกคนใช้ชีวิต (ถูกกักขัง?) อยู่ในโลกที่ดีในความคิดตัวเองที่ว่า

ซึ่งวาทกรรมและมายาคติดังกล่าวก็มีไว้เพื่อเหตุผลนั้นนั่นเอง…

มาถึงตรงนี้ ผมมองว่าเส้นแบ่งระหว่าง “พื้นที่” ของความต้องการที่จะรักษาชีวิตที่ตนคิดว่าดีไว้ให้ลูกหลานกับ “พื้นที่” ของความกลัวที่ว่าตนจะต้องสูญเสียอำนาจในการควบคุมความเป็นไปในหมู่บ้านให้เป็นไปอย่างตั้งใจได้พร่าเลือนจนทำให้พื้นที่ทั้งสองหลอมรวมเป็นพื้นที่เดียวกัน กลายเป็นความกลัวว่าจะรักษาวิถีชีวิตที่ตัวคิดว่าดีเอาไว้ไม่ได้ และถามว่าปัจจัยอะไรที่จะทำให้ชีวิตที่ตนคิดว่าดีนั้นสลายไป คำตอบก็คือการติดต่อกับสังคมนั่นเอง

ถ้ามองในแง่ดีโดยไม่ต้องคิดถึงว่าวิถีชีวิตใหม่นั้นมันดีจริงหรือเปล่า นั่นก็เป็นเจตนาดีของคนกลุ่มนั้น แต่ถ้ามองในแง่ร้าย (ซึ่งผมชอบ ไม่เชื่อก็ดูคำโปรยที่หัวบล็อก) นั่นก็แค่ความกลัวที่ตัวเองจะต้องสูญเสียอำนาจในการควบคุมหรือปกครองทุกสิ่งให้เป็นอย่างที่ตนตั้งใจไป

ในกรณีนี้ แรงขับดันในความกลัวดังกล่าวได้ทำให้ผู้ก่อตั้ง [ต่อไปจะเรียกว่า “ผู้ปกครอง” (ไม่ใช่พ่อแม่นะครับ)] สร้างความกลัวชุดใหม่ขึ้นมาเป็น “อำนาจ” ในการควบคุมสรรพสิ่งในธรรมชาติที่ตัวเองสร้างขึ้น และมันออกมาในรูปวาทกรรมและมายาคติเกี่ยวกับ Those we don’t speak of ดังกล่าวไปแล้ว

The Village ในโลกแห่งความเป็นจริง: กรณี “ประเทศ” และ “ชาติ” ไทย

ในโลกแห่งความเป็นจริง เอาเฉพาะใน “ชาติ” ไทย ผู้ปกครองมีการสร้างวาทกรรมความกลัวหลากหลายรูปแบบขึ้นมาเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองในการควบคุมวิถีชีวิต (ระบอบการปกครองเป็นต้น) ที่ตัวเองคิดว่าดีไว้ เช่นในสมัยรัชกาลที่หก เมื่อตระหนักดีถึงอิทธิพลของกลุ่มคนจีนในประเทศก็ได้มีการสร้างวาทกรรมลูกจีนที่ทำให้คนจีนดูเป็นอะไรที่ “ไม่ดี” ขึ้นมา หรือในช่วงต้นของรัชกาลปัจจุบัน วาทกรรมความกลัวหลักคงไม่พ้นเรื่องคอมมิวนิสต์ และถ้าเอาที่ใกล้ตัวเข้ามาอีกก็ไม่พ้นวาทกรรมเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้ทั้งนั้นล้วนเป็นไปเพื่อรักษาวิถีชีวิตที่ผู้ปกครองคิดว่าดีและปรารถนาให้ผู้ใต้ปกครองได้มีใช้ต่อไปเอาไว้ทั้งนั้น และที่น่ากลัวก็คือ วาทกรรมเหล่านั้นทำให้ผู้ใต้ปกครองตกอยู่ในสภาวะร่างกายใต้บงการจนนอกจากจะไม่ทำในสิ่งที่จะทำให้ตนได้ชื่อว่าหลงผิดแล้ว บ่อยครั้งยังเอาวาทกรรมที่ว่ามาใช้ในการฟาดฟันกันเองด้วย

การสร้างหมู่บ้านหรือชุมชนใน The Village หากมองดีๆแล้วจะเห็นว่าอยู่บนกฎอันแข็งแกร่งบนฐานความคิดแยกขั้วความเป็น “พวกเขา/พวกเรา” คือ “คนในหมู่บ้าน/Those we don’t speak of” และ “หมู่บ้าน/เมืองอื่น” ซึ่งดูจะเป็น concept ประการหนึ่งของความเป็นชุมชน กล่าวคือเป็นการระบุพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์จริงๆหรือภูมิศาสตร์อัตลักษณ์หรือภูมิศาสตร์วัฒนธรรม ใน The Village พวกตัวละครอาศัยอยู่ในหมู่บ้านติดป่าคัฟวิงตั้นวู้ด และในป่าคัฟวิงตั้นวู้ดมี Those we don’t speak of อาศัยอยู่ และเพื่อยึดโยงจิตใจของคนในหมู่บ้านให้คงอยู่ในชุมชนให้ได้ก็ต้องมีการทำให้เมืองอื่นดูไม่ดี ดังที่ในเรื่อง Finton Coin (ตัวละครตัวหนึ่ง) พูดถึงเมืองอื่นว่าเป็น “Wicked places where wicked people live” หรือ “เมืองชั่วร้ายที่มีคนชั่วร้ายอาศัยอยู่” ทั้งที่จริงๆแล้ว ด้วยวาทกรรมที่ครอบงำหมู่บ้านอยู่ Finton Coin ย่อมไม่เคยก้าวผ่านคัฟวิงตั้นวู้ดไปถึงเมืองอื่น เพราะฉะนั้น ลักษณะของเมืองอื่นที่เขาเชื่อว่าเป็นจริงจนพูดออกมาอย่างนั้นย่อมต้องมาจากการปลูกฝังของผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และนั่นคือความเชื่อที่ตกทอดมาจากความคิดของผู้ปกครอง (The Elder) ในหมู่บ้านนั่นเอง ซึ่งนั่นหมายความว่า ในขณะที่ผู้ปกครองกระทำสิ่งต่างๆเพื่อยืนยันถึงการมีตัวตนของความกลัวที่ตนใช้เป็นอำนาจครอบงำ ความกลัวเหล่านั้นก็ได้รับการถ่ายทอดส่งผ่านถึงกันอย่างรุ่นต่อรุ่นด้วย ก่อเกิดเป็นการครอบงำแบบข้ามเวลาและช่วงอายุขึ้น

“ชาติ” ไทยเองก็มีการสร้างขึ้นบนพื้นฐานอันแข็งแกร่งของ “ความเป็นเรา/ความเป็นอื่น” นอกจากมีขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่แน่นอนในเชิงพิกัดตัวเลขที่หลงเหลือมาจากยุคล่าอาณานิคม เราก็มีการสร้างศัตรูร่วมของ “ชาติ” ไทยด้วย พม่าเป็นจำเลยหลักที่คอยมารุกรานเราอยู่เรื่อยในประวัติศาสตร์กระแสหลัก คอมมิวนิสต์เป็นตัวร้ายที่ต้องการล้มล้างสถาบันหลักอยู่ช่วงเวลาหนึ่งและยังคงหลงเหลือกลิ่นอายอันชั่วร้ายนั้นอยู่ เป็นโชคดีของเขมรที่คนไทยโยนความผิดกรณีเขาพระวิหารไปให้คน “ชาติ” เดียวกันเสีย ไม่อย่างนั้นอาจมีโอกาสได้ขึ้นมาเทียบรัศมีเป็นศัตรูร่วมของ “ชาติ” ไทยในฐานะโจรแย่งชิงดิงแดนได้

ความที่ “ประเทศ” ไทยนั้นแม้ไม่ใหญ่มากแต่ก็ยังมากพอจะทำให้คนใน “ประเทศ” ไม่อาจเห็นหน้ากันทั่วเห็นหัวกันครบและไม่อาจ (ไม่มีวัน) รู้จักกันหมด อีกทั้งในบรรดาคนมากมายดังกล่าวนั้นก็ยังมีความแตกต่างอันหลากหลาย เพื่อยึดโยงความคิดของคนทั้งหมดอันจะนำไปสู่การสร้างสภาวะร่างกายใต้บงการให้เกิดแก่คนใน “ประเทศ” ได้นั้น นอกจากการสร้าง “ศัตรูร่วม” ดังกล่าวและการสร้างศูนย์รวมจิตใจอย่างสามสถาบันหลักขึ้นมาแล้ว ยังมีการสร้างวาทกรรมต่างๆขึ้นมาเพื่อระบุพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ด้านต่างๆของคนใน “ประเทศ” (ภูมิภาค, อัตลักษณ์, วัฒนธรรม, ประเพณี ฯลฯ) เพื่อให้รู้ว่าคนแบบไหนถึงจะอยู่ใน “ประเทศ” เดียวกัน ทำให้เกิดความรู้สึกทำนองที่ว่า แม้ไม่ได้เห็นหน้าค่าตาหรือรู้จักกัน แต่เราก็รับรู้ได้ว่ามีคนอื่นที่เป็นพวกเดียวกับเราอยู่ในขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่เรียกว่า “ประเทศ” เดียวกัน รู้สึกราวกับว่าแม้ไม่เคยเจอกันแต่แท้จริงแล้วคนเหล่านั้นก็คือญาติพี่น้องหรือคนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน เกิดความสัมพันธ์ทางใจเหมือนหมู่บ้านหรือชุมชนใน The Village ที่ทุกคนเห็นหน้าค่าตาและรู้จักกันหมด ต่างกันตรงที่ใน The Village นั้นเห็นและรู้จักกันจริงๆ แต่ใน “ประเทศ” ไทยนั้นเห็นและรู้จักกันอยู่ในความรู้สึก เป็นการรู้จักกันในจินตนาการ จึงอุปมาได้ว่าเป็น “ชุมชนในจินตนาการ” (Imagined Community) ซึ่งเป็นคำที่ Ben Anderson ใช้เป็นนิยามสั้นๆแทนความหมายของคำว่า “ชาติ” นั่นเอง

ในการจะดำรงความเป็น “ชาติ” หรือ “หมู่บ้าน” (ในจินตนาการ) ให้สงบราบคาบได้อย่างใจผู้ปกครอง ก็ต้องมีการกำจัดสิ่งที่เป็นภัยต่อการดำรงอยู่อันผาสุกนั้นไป ใน The Village เมื่อพบเห็นสีชั่วร้ายก็ต้องเอาไปฝัง ถามว่าจะให้กลัวอยู่แต่ในใจนั้นมิได้หรือ ในความคิดของผม เมือมีผู้คิดใช้ความกลัวเป็นอำนาจครอบงำเพื่อควบคุม ผู้นั้นคงมิได้ต้องการจะเห็นแค่ความกลัว แต่ต้องการเห็นการศิโรราบ/ยอมจำนนต่ออำนาจควบคุมที่ตนเองสร้างขึ้น ต้องทำให้เป็นพิธีกรรมให้เห็นเด่นชัดเพื่อแสดงว่าอำนาจนั้นยังคงมีตัวตนอยู่

ใน “ชาติ” ไทย เมื่อเห็นอะไรชั่วร้ายเข้าข่ายว่าหลงผิดไปจากความเป็น “ชาติ” อะไรที่ว่าชั่วร้ายนั่นก็จะถูกเอาไปฝังเช่นกัน อยู่ที่ว่าจะฝังแบบไหน แบบดินกลบหน้า แบบถีบลงเขา แบบเผาในถัง แบบหลังติดถนน ซึ่งการฝังดังกล่าวมักถูกทำให้ดูมีความชอบทำโดยอาศัยวาทกรรมความกลัว (ที่กลายเป็นอำนาจครอบงำ) ที่มีอยู่ในสังคม และเพื่อแสดงให้เห็นว่าอำนาจควบคุมนั้นยังมีอยู่ ก็ต้องมีพิธีกรรมเพื่อแสดงออกถึงการศิโรราบ/ยอมจำนนต่ออำนาจ โดยอาจอยู่ในความหมายอื่นเช่นความจงรักภักดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ชาติ) ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นเพียงฉากปิดบังความกลัว ในด้านผลที่มีต่อตัวผู้แสดงการศิโรราบ/ยอมจำนน นอกจากจะเป็นการสร้าง “แรงเสริมลบ” (Negative Reinforcement) คือทำให้กลัวการถูกฝังจนลดพฤติกรรมต่อต้านแล้ว ภายใต้การอำพรางการศิโรราบ/ยอมจำนนให้ปรากฏเป็นสิ่งอื่นที่ดูดีดังกล่าวที่ไม่ใช่ความกลัวยังเป็นการสร้าง “แรงเสริมบวก” (Positive Reinforcement) ให้อยากแสดงการศิโรราบ/ยอมจำนนมากขึ้นด้วย

ใน The Village ความตายของลูกชายของ The Elder คนหนึ่งก่อ “แรงเสริมบวก” ให้ Lucius Hunt ต้องการจะฝ่าป่าคัฟวิงตั้นวู้ดไปยังเมืองอื่นเพื่อหาตัวยาที่จะรักษาชีวิตของคนในหมู่บ้านได้ เขาเสนอความตั้งใจนั้นต่อหน้า The Elder ทั้งเก้า มองในบริบทของหนังแล้ว นั่นเป็นการประกาศเจตนาในการฝ่าฝืนกฎที่ The Elder วางไว้เพื่อรักษาวิถีชีวิตในหมู่บ้าน ทั้งยังแสดงความเชื่อมั่นว่าเจตนาที่บริสุทธิ์ของตัวเองจะทำให้ Those we don’t speak of เข้าใจและไม่ทำร้ายตน ตรงนี้สำหรับ The Elder แล้วก็คงเหมือนว่ามีคนมา “ขอฝ่าฝืนกฎเหล็กของหมู่บ้านด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ที่อยากเห็นชีวิตในหมู่บ้านนี้ดีขึ้น”

มาถึงตรงนี้ ผมก็พลันสงสัยขึ้นมาว่า ถ้ามีคนทำอย่างนั้นขึ้นมาใน “ชาติ” ไทย คนผู้นั้นจะได้รับการตอบรับแบบไหนจากผู้ปกครอง หรือคนใต้ปกครองที่มีความคิดจิตใจแบบเดียวกันกับผู้ปกครองกัน “แรงเสริมบวก” จากคนรอบข้างจะเกิดขึ้นเพราะเจตนาบริสุทธิ์ของคนผู้นั้น หรือความกลัวอันแน่นหนาที่ครอบงำจะเพิ่ม “แรงเสริมลบ” จนทำให้ต้องรีบช่วยกันเอา “คนพรรค์นั้น” ไปฝังกันแน่

ปล.: ขอบคุณม่อนและโครงการบัณฑิตศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มอบโอกาสในการเป็นผู้นำการเสวนาดังกล่าวให้กับผม ขอบคุณจากใจจริงครับ

Posted in บทความ | 9 Comments »

หมีมองคน: ประเทศประชาธิปไตยที่ละเลย “เสียง” ส่วนใหญ่

Posted by ปราชญ์ วิปลาส บน 9 กันยายน, 2008

ปราชญ์ วิปลาส

 

โดยปรกติ เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยในบ้านเรา เราก็มักจะพูดถึงการเคารพมติของ “เสียง” ส่วนใหญ่ แต่แน่นอนว่าเพื่อให้ดูน่ารักและมีจริยธรรมความมีน้ำใจตามจริตแบบไทยๆ เราก็จะแถมท้ายว่าแต่ต้องไม่ลืมฟัง “เสียง” ส่วนน้อยด้วย

 

แต่ในช่วงเวลานี้ ในขณะที่ “เสียง” ส่วนน้อยของชนชั้นกลางผู้มีอันจะกิน (โดยเปรียบเทียบ) ในเมืองกำลังก้องกังวานขับไล่รัฐบาลด้วยเหตุผลต่างๆ สื่อต่างๆมุ่งแต่นำเสนอข่าวการรบรากันของขั้วอำนาจ ถ้อยวิภาษต่อปัญหาของประเทศมีแต่เรื่องรัฐบาล พันธมิตรฯแก่ พันธมิตรฯอ่อน นปช. หรือกลุ่มพลังอื่นๆ ด้วยความเป็นไปทั้งหมดดังกล่าว ผมรู้สึกว่านี่เป็นอีกครั้งที่ประชาธิปไตยบ้านเรากำลังมาจนถึงจุดซ้ำซากเดิมๆที่ว่าเรากำลังละเลย “เสียง” ส่วนใหญ่กันอีกแล้ว

 

อนึ่ง ผมไม่ได้และไม่เคยเลยที่จะเห็นด้วยกับการ “อ้างเอา” ความชอบธรรมของรัฐบาลทักษิณและสมัครว่าตนเป็นรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ ทั้งอ้างและพยายามชี้นำโดยนัยให้เห็นว่าเพียงแค่นั้นก็เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย เพราะนั่นเป็นการอ้างเพื่อรักษาอำนาจ เป็นการป้องกัน “ตัว” เป็นการฉวยโอกาสเอา “เสียง” ส่วนใหญ่มาเป็นรองเท้าให้อำนาจใส่เดิน ผมไม่ยอมรับการอ้างแบบนั้น

 

“เสียง” ส่วนใหญ่ที่ผมกำลังจะพูดถึงนั้นคือ “เสียง” ที่มีความหมายมากกว่าเพียงรอยขีดปากกาสองครั้งในบัตรเลือกตั้ง มันคือ “เสียงร้อง” ที่เป็นเหตุผลว่า ทั้งที่มีความพยายามชี้ให้เห็นว่าทักษิณนั้นเป็นอย่างไร แต่ทำไม “เสียง” ส่วนใหญ่ก็ยังร้องรับเมื่อเห็นว่านายสมัครมาเป็นอะไรบางอย่างที่คล้ายกับตัวแทนของทักษิณหรือพลังประชาชนคือร่างใหม่ของไทยรักไทยเดิม

 

ประชาธิปไตยตัวแทนเป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้ “เสียง” ต่างๆในที่ห่างไกลได้เดินทางเข้ามาในเมือง และไม่เพียงเท่านั้น มันยังเปิดโอกาสให้ “เสียง” เหล่านั้นได้มีโอกาสเรียกเอาทรัพยากรต่างๆในประเทศให้ได้รับการจัดสรรถึงมือ (ชีวิต) ตัวเองด้วย ฉะนั้น เมื่อชาวบ้านเลือกรัฐบาลที่คนในเมืองตัดสินว่าไม่มีจริยธรรมหรือเวลาชาวบ้านขายเสียง นั่นจึงไม่ใช่เรื่องที่คนในเมืองจะเอาจริยธรรมในแบบตัวเองมาเป็นบรรทัดฐานตัดสินว่าขายเสียงคือเลวหรือเลือกรัฐบาลแบบนั้นคือโง่ เพราะสำหรับชาวบ้าน แม้ไม่ออกมาเป็นคำพูดชัดเจนแบบที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ แต่การเลือกตั้งก็คือโอกาสที่จะทำให้ตนได้รับซึ่งทรัพยากรที่ตนคิดว่าดีและไม่เคยได้มีมาก่อน ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่าไม่ต่างอะไรจากคนในเมืองที่อยากได้รถไฟฟ้า ถ้าสมัครสร้างรถไฟฟ้าให้ร้อยสาย เราก็จะใช้มัน ใช้มันทั้งที่ปากด่าสมัครและอยากไล่สมัครไปให้พ้นๆมันอย่างนั้นทุกวันนั่นแหละ เราฉลาด เรามีเหตุผล เรารู้ว่าเรามีสิทธิ์จะได้อะไร เรามีวิจารณญาณพอจะแยกแยะว่าของดีของคนที่เราคิดว่าไม่ดีไม่ใช่ของไม่ดี เราบอกตัวเองอย่างนั้น

 

สิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำไว้และจับใจชาวบ้านเป็นอย่างมากก็คือ การทำให้รู้สึกว่ามีเงินใช้เมื่อ “อยาก” ใช้ (ผมจะไม่ใช้คำว่า “จำเป็น” ในบริบทนี้ เพราะในโลกบริโภคนิยม การรักษาความเป็นมนุษย์ที่ไม่แปลกแยกจากคนอื่นของตัวเองไว้ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างหนึ่ง ถ้าใครสักคนใช้เงินเพราะความ “อยาก” ด้วยมันจะสามารถรักษาความเป็นมนุษย์ที่ไม่แปลกแยกตามแบบฉบับที่บริโภคนิยมปลูกฝังไว้ได้ นั่นก็คือความจำเป็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แม้ใครจะมองว่าสิ่งที่ซื้อไปเพราะความอยากนั้นไม่มีความจำเป็นกับชีวิตก็ตามที) รัฐบาลทักษิณได้สร้างเงื่อนไขทางความรู้สึกที่ว่า ตราบใดที่ยังมีรัฐบาลตน ชาวบ้านก็จะยังคงได้รับการตอบสนองความต้องการอย่างนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อไทยรักไทยคืนชีพใหม่ในนามพลังประชาชน ชาวบ้านก็ยังคงยินดีจะส่ง “เสียง” ตอบรับเช่นเคย

 

ช่วงปลายปีที่แล้วผมได้มีโอกาสไปทำแบบสอบถามศึกษาถึงต้นทุน รายรับรายจ่ายของเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี อ่างทอง และจันทบุรี ในบรรดาเกษตรกรสามถึงสี่ร้อยครัวเรือนที่ทำการศึกษานั้น พบว่ามีเพียงไม่กี่ครอบครัวที่มีรายได้จากเงินเดือนหรือรายได้ประจำในทางอื่นใด รายได้หลักยังคงอิงอยู่กับฤดูกาลทั้งที่เป็นฤดูกาลจริงๆและฤดูกาลที่ถูกบีบบังคับด้วยอำนาจทางวิทยาศาสตร์ (การใช้ยาเร่งดอกเร่งผล) มีไม่ถึงห้าสิบครอบครัวที่มีเงินออมอยู่ในธนาคาร ซึ่งเงินออมนั้นก็อยู่ไม่นานพอแม้เพียงเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยเล็กๆน้อยๆมาให้ลูกหลานกินขนม ออมได้พักๆก็ต้องถอนออกมาใช้เสียแล้ว (เว้นแต่จะเป็นเจ้าที่ดินที่มีพื้นที่เพาะปลูกเป็นร้อยไร่ แบบนั้นไม่เพียงมีเงินออมแต่ยังสามารถสะสมทุนไว้ลงต่อได้ด้วย) ชีวิตเหล่านั้นดำรงอยู่ได้ด้วยระบบเงินหมุน ระบบดังกล่าวทำให้ไม่เคยมีการคิดคำนวณกำไรหลังหักต้นทุน ส่วนใหญ่ไม่มีการจดบันทึกต้นทุนรายรับรายจ่ายไว้เป็นสถิติ การขาดทุนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอด ทุกบ้านเป็นหนี้ธกส. บางบ้านไม่ใช่ไม่รู้ว่าที่ทำๆอยู่ทุกปีนั้นขาดทุน ความจริงคือรู้ทั้งรู้ว่าขาดทุนแต่ก็ต้องทำเพราะที่ “เชื่อ” กันอยู่คือตนเองไม่มีทางเลือกอื่น และที่สำคัญ จะขาดทุนหรือกำไร จะต้องดิ้นรนสร้างหนี้จากแหล่งหนึ่งเพื่อผันเงินมาใช้หนี้อีกแหล่งหนึ่ง แต่ถ้าที่สุดแล้วยังมีเงินใช้เมื่อจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

 

แม้ทั้งสามจังหวัดที่ผมไปมาจะไม่ใช่ฐานเสียงใหญ่ของไทยรักไทยหรือพลังประชาชน และเกษตรกรบางรายในพื้นที่ดังกล่าวก็เกลียดทักษิณจากข้อตกลงการค้าเสรีที่ทำให้คนหันไปกินแอปเปิ้ลราคาถูกจากจีนมากกว่ามะม่วงในประเทศ แต่ผมเชื่อว่าชีวิตที่ดำเนินไปด้วยการหมุนเงินใช้แบบนั้นน่าจะกระจัดกระจายอยู่มากมายในส่วนต่างๆของประเทศ โดยเฉพาะภาคอีสานที่ได้ชื่อมาจนทุกวันนี้ว่ามีคนยากจนอยู่มากที่สุดในประเทศและเป็นฐานเสียงของไทยรักไทยและพลังประชาชน ด้วยสภาพดังกล่าว ผมเห็นว่านโยบายอย่างกองทุนหมู่บ้าน การพักหนี้เกษตรกร หรืออะไรก็ตามที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการจับจ่ายของชาวบ้านอย่างที่ไทยรักไทยใช้เป็นจุดขายนี้เองที่จะถูกจริตกับชีวิตอันยากลำบากแบบนั้นได้ และแน่นอน ด้วยเรื่องของการสร้างเงื่อนไขดังกล่าวไปแล้ว พลังประชาชนเลยพลอยฟ้าพลอยฝนได้รับอานิสงไปด้วย

 

ชีวิตที่ลำบากยากจนแบบนั้นนั่นแหละที่กลายเป็นฐานเสียงให้รัฐบาลไทยรักไทยถึงสองสมัย และการที่พลังประชาชนได้รับความเชื่อมั่นให้บริหารประเทศต่อนั้นก็คงเพียงพอจะสะท้อนให้เห็นว่า ความลำบากยากจนบนชีวิตเงินหมุนนั้นยังไม่จบสิ้น และความความยากจนที่ทักษิณประกาศจะทำให้หายไปในหกปียังคงมีตัวตนอยู่ เพียงแต่ดูเจือจางและรู้สึกหรือสัมผัสถึงได้ยากขึ้นเท่านั้น

 

ผมรับได้กับม็อบหรือการเคลื่อนไหวต่างๆเพื่อแสดง “เสียง” ของตัวเองออกมาตามระบอบประชาธิปไตย แต่ผมรับไม่ค่อยได้ที่นักวิชาการหรือปัญญาชนหรือชนชั้นกลางในเมืองที่ดูน่าจะมีการศึกษากำลังแสดงออกไปในทางที่ละเลย “เสียง” ส่วนใหญ่ ในความคิดของผมแล้ว ต่อให้นายสมัครรู้จักฟังเสียงคนรอบข้างลาออกอย่างที่ดร.เตชทำ (เป็นตัวอย่าง ถ้านายกฯจะสนใจบ้าง) ต่อให้พลังประชาชนถูกยุบพรรค จะแบบไหนก็ไม่มีวันที่ปัญหาจะจบได้ ซึ่งปัญหาที่ว่าก็คือปัญหาปากท้องของชาวบ้านที่ส่ง “เสียง” ส่วนใหญ่ออกมาเป็นรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลสมัครนี้นี่เอง ถ้ารัฐบาลนี้สาบสูญหรือถึงขั้นสูญพันธุ์ไป ที่จะหายไปก็มีแค่ความขัดข้องใจของคนส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาปากท้องของ “เสียง” ส่วนใหญ่ก็จะยังคงดำรงตนของมันอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

 

สิ่งที่ทักษิณทำไว้ไม่ใช่เรื่องที่จะรื้อถอนกันได้ด้วยการทำให้สายสัมพันธ์ต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับเขาหายไป เขาสร้างรูปแบบการใช้นโยบายที่เป็นตัวอย่างว่าจะขายอะไรอย่างไรแล้วเป้าหมายจึงจะซื้อ รัฐบาลต่อๆไป (ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับไทยรักไทยหรือพลังประชาชน) ก็คงดีแต่เอาโครงการเหล่านั้นมาปัดฝุ่นเปลี่ยนชื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นนโยบายของตัวเอง หรือไม่ก็สร้างนโยบายอื่นที่อยู่บนฐานคิดแบบประชานิยมออกมา และที่สำคัญ ถ้ารัฐบาลต่อจากนี้ไม่มีผู้นำที่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน พวกเขาก็คงจะหลอกกินเสียงของ “เสียง” ส่วนใหญ่ไปได้เรื่อยๆ ด้วยการ “Spoil” ลักษณะการดำรงชีวิตของชาวบ้านที่ต้องผูกพันอยู่กับเรื่องเงินๆทองๆดังที่ทักษิณทำไว้เป็นตัวอย่าง

 

นี่แหละที่ผมบอกว่าเรากำลังละเลย “เสียง” ส่วนใหญ่

 

ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้จะปกป้องหรือเรียกร้องความชอบธรรมให้รัฐบาลสมัครหรือทักษิณแต่อย่างใด เพราะผมก็ไม่เห็นว่าการสนับสนุนคนให้ก่อหนี้เพื่อบริโภคอย่างทักษิณนั้นจะช่วยแก้ปัญหาให้ “เสียง” เหล่านั้นได้ แต่ด้วยสภาพความเป็นไปในตอนนี้ ผมอยากให้คำนึงกันถึง “เสียง” ร้องจากชีวิตที่ไม่มั่นคงที่กลายมาเป็นฐานเสียงให้ทั้งสองรัฐบาลนั้นด้วย คำนึงที่ว่าไม่ใช่รักษารัฐบาลนี้ไว้ให้มา “Spoil” ชาวบ้านต่อไป แต่คำนึงว่าจะทำอย่างไรชีวิตพวกนั้นจึงได้มีความมั่นคงขึ้นมาบ้าง มีความมั่นคงพอจะไม่ตกเป็นเหยื่อของนักขายนโยบายหน้าใหม่ (หรือหน้าเก่า เก่ามาก แต่ยังได้โอกาสใหม่ๆในการขายนโยบายอยู่เรื่อย) อีกต่อไปในอนาคต

 

ผมไม่ใช่คนไทยมากไปกว่าในความหมายของการมีบัตรประชาชน ผมไม่เจ็บปวดรวดร้าวกับความพินาศฉิบหายของการเมืองไทย แต่ผมปวดใจที่ “เสียง” จากชีวิตที่เลือกได้แต่เพียงกระเหม็ดกระแหม่ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศต้องถูกกลบด้วยเสียงตดเสียงเรอของคนท้องอิ่มในเมืองที่ดังออกมาเป็นเรื่องความถูกต้องอยู่เรื่อย

Posted in บทความ | 8 Comments »

หมีมองคน: คุยเรื่องภาคใต้แบบเบาๆ (อีกที)

Posted by ปราชญ์ วิปลาส บน 17 กันยายน, 2007

โดย…ปราชญ์ วิปลาส  

พอดีเกิดสำเหนียกกลัวขึ้นมาได้ว่า เรื่องใต้ที่ชวนคุยไปคราวก่อนนั้นออกแนวชวนเสียว ประหนึ่งชวนคุยเรื่องใต้สะดือ ทั้งหมิ่นเหม่จะซวนเซสู่ข้อหามีใจคิดคดเป็นกบฎต่อแผ่นดิน ด้วยรู้สึกว่าตัวเองนั้นมุ่งเป้าการแก้ไขปัญหาไปที่การแบ่งแยกดินแดนจากกันมากเกินไป และเพิ่งนึกขึ้นได้ ว่าเท่าที่ศึกษามา ก็น่าจะยังพอมีทางอยู่ร่วมกันได้ คือหมายถึงว่าอยู่ร่วมกันในนามว่า บนผืนแผ่นดินไทยหรือ ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร  

วิธีการรวมเอากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนน้อยกว่า อำนาจน้อยกว่า เข้าอยู่ภายใต้ปกครอง หรือเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากกว่า มีอำนาจมากกว่า ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบเรียบร้อยอย่างยืนยาว ย่อมไม่น่าจะใช่การใช้กำลังเข้าบีบบังคับ หรือใช้การกลืนกินอย่างเข้มข้นและแข็งกร้าว เพราะวิธีการแบบดิบกระด้างดังกล่าว ย่อมไม่อาจใช้ได้ผลกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน เข้มแข็ง และมีรากฐานยาวนานกระทั่งผูกติดอยู่กับวิถีชีวิตประจำวัน อย่างเช่นกลุ่มชาติพันธุ์มลายูผู้นับถือศาสนาอิสลามในเขตสจชต.เป็นต้น  

ประเด็นสำคัญจึงน่าจะอยู่ที่ จะทำอย่างไรให้เขายังสามารถระลึกและดำรงไว้ได้ซึ่งอัตลักษณ์เดิม โดยไม่รู้สึกแปลกแยก ต่อต้าน ไม่ปรารถนาจะยอมรับในการอยู่ร่วมกับอัตลักษณ์ใหม่  

คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ กับทั้งองค์พระมหากษัตริย์ก็ทรงเป็นพุทธมามกะดังบัญญัติเป็นความในรธน.หมวด ๒ มาตรา ๙ และทรงใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ดังบัญญัติเป็นความในรธน.หมวด ๑ มาตรา ๓ การที่รัฐธรรมนูญจะสมบูรณ์ได้โดยการลงพระปรมาภิไธยรับรองนั้น นั่นย่อมหมายความว่า ช่องทางอำนาจทั้งสามช่องทางนั้น เป็นที่รับรองโดยองค์พระมหากษัตริย์ ว่าจะเป็นช่องทางในการจะทรงใช้อำนาจ ซึ่งผมมองว่านั่นคือลักษณะความเชื่อมโยงกันระหว่าง สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจสูงสุด กับ องค์กรการบริหารและการปกครอง  

อิสลามเองก็มีความเชื่อมโยงในลักษณะนั้นเช่นกัน…  

ในทางความเชื่อของศาสนาอิสลาม ผู้มีอำนาจในการปกครองบริหาร หรืออย่างน้อยที่สุดคือผู้มีอำนาจในการตัดสินถูกผิดพวกเขา ย่อมต้องเป็นผู้ที่เชื่อและยอมรับกันว่าได้รับการรับรองโดยสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจสูงสุด ซึ่งก็คือองค์อัลเลาะห์เจ้านั่นเอง กล่าวคือ ผู้มีอำนาจนั้นต้องเป็นคนในศาสนาอิสลาม ซึ่งนั่นจะเป็นหลักประกันสำคัญประการหนึ่งให้วางใจได้ว่า เหล่าเขาผู้อยู่ใต้ปกครองนั้นจะไม่ถูกบังคับ หรือนำพาไปในทิศทางอันขัดต่อพระประสงค์ขององค์อัลเลาะห์เจ้า หรือหากมีคำสั่งคำตัดสินใด ก็ย่อมเป็นไปตามแนวทางโองการแห่งอัลเลาะห์  

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า อิสลามเป็นศาสนาที่แฝงฝังอยู่ในรูปแบบของการดำเนินชีวิตอย่างเข้มข้น ต่างจากพุทธในไทยที่ปัจจุบันสัมพันธ์กับวิถีชีวิตแบบง่ายๆเพียงว่าทำดีหรือทำชั่ว โดยดีชั่วที่ว่านั้นตัดสินเอาจากความรู้สึกความคิดเชื่อร่วมของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก หรือบ่อยครั้งก็ตัดสินกันโดยเอาตัวบุคคลคู่กรณีเป็นตัวพิจารณา มิได้ชี้วัดกันโดยการทำความเข้าใจลงลึกไปในแก่นแท้ของพุทธปรัชญา ซึ่งทำให้สุดท้ายแล้วดีชั่วกลับกลายเป็นเรื่องที่ว่าประโยชน์แห่งกรรมนั้นตกอยู่กับใคร อันทำให้กลายเป็นเรื่องต้องถกเถียงกันไปไม่จบสิ้นในหลายกรณี   

ในศาสนาอิสลามนั้น จะกล่าวว่ามีบทบัญญัติทางศาสนากำกับอยู่ในทุกกิจกรรมก็คงไม่เกินจริงนัก เนื่องด้วยศาสนาของเขาอยู่ในใจ เป็นจิตสำนึก ไม่ใช่เพียงพลิ้วไหวไปในลมปาก  

และเมื่อไทยเน้นการพัฒนาไปตามรูปแบบของทุนนิยม มุ่งเน้นการจัดการกับทรัพยากรแบบควบคุมและช่วงใช้ ไม่ใช่อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย วิถีเยี่ยงนั้นย่อมไปกันไม่ได้กับรูปแบบความคิดเชื่ออย่างอิสลาม ที่เชื่อว่าทุกสิ่งในธรรมชาตินั้นเป็นผลประทานจากอัลเลาะห์ และการหยิบใช้นั้นเป็นไปอย่างเคารพ และสำนึกในบุญคุณของอัลเลาะห์  

ทุกวันนี้ ไทยเราเองก็มีการก่อรูปขึ้นของความเชื่อที่ว่า ชีวิตที่ดำรงอยู่ได้นั้นก็เป็นผลประทานมาจากสิ่งยึดเหนี่ยวสูงสุด และการจะใช้มัน ก็ควรเป็นไปอย่างเคารพ และสำนึกในบุญคุณของสิ่งยึดเหนี่ยวสูงสุดนั้นในทุกลมหายใจเช่นกัน ส่วนจะทำได้มากน้อยเพียงไหน คงขึ้นอยู่กับการตีความ หรือจิตสันดานของผู้ใช้  

จึงจะเห็นได้ว่า ในฐานะมนุษย์ผู้มีจิตใจ (สมอง) แล้ว เราต่างมีความคล้ายคลึงกันอยู่  

การที่คนบางส่วนยังสามารถใช้มือจับโทรศัพท์มือถือ ปากเคี้ยวแม็คเบอร์เกอร์ไปพร้อมๆกับส่งเสียงแสดงความชื่นชมเศรษฐกิจพอเพียงให้ลอดชิ้นเนื้อแผ่นแป้งผักดองและไรฟันออกมา นั่นเพราะเศรษฐกิจพอเพียงถูกตีความให้ไปกันได้อย่างน่ารักกับทุนนิยม แต่หากเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นโองการอันสืบส่งลงมาจากสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจสูงสุดถูกตีความให้แปลกแยกจากทุนนิยมอย่างอยู่กันคนละขั้ว และเป็นขั้วที่ไม่มีวันบรรจบกันได้ เมื่อนั้นก็น่าสนใจเหมือนกัน ว่าโทรศัพท์มือถือ แม็คเบอร์เกอร์ และเศรษฐกิจพอเพียงนั้นจะยังร่วมกินเลี้ยงด้วยกันได้หรือไม่  

จึงน่าจะเห็นได้ว่า การจะพึงดำเนินนโยบายบริหารปกครองใดใดก็ตาม ให้เกิดความสงบราบคาบแก่สังคมได้นั้น ย่อมต้องเป็นไปอย่างเข้าใจ (เอาอกเอาใจ?) และสอดคล้องต่อวิถีชีวิตและความคิดเชื่อของคนในสังคม มิเช่นนั้นแล้ว คงรังแต่จะก่อความขัดแย้งขึ้นอย่างไม่รู้จักจบสิ้น  

แล้วผู้ปกครองแบบใดเล่า…ที่จะสามารถกำหนดนโยบายและสร้างสังคมเยี่ยงนั้นได้  

ก็ย่อมต้องเป็นผู้ปกครองที่เข้าใจ คิดเชื่อสอดคล้องไปในทางเดียวกับวิถีชีวิต กับความเชื่อหลักของผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง   

จากที่พูดมาถึงหมด จึงได้นำมาสู่ความคิดที่ว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาในสจชต. แนวทางดีที่สุดที่ผมนึกออกในตอนนี้ก็คือ การจัดบริเวณดังกล่าวให้เป็น เขตปกครองพิเศษ ซึ่งคุณลักษณะหลักของเขตปกครองดังกล่าวที่ผมคิดก็คือ เหล่าผู้นำในระดับต่างๆของพื้นที่ ทั้งผู้นำชุมชน ตำรวจ นายกอบต. นายกอบจ. ผวจ. หรือผู้นำใดใดก็ตาม ต้องเป็นคนพื้นที่ที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือต่อให้มาจากต่างพื้นที่ ก็ต้องเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างเข้าใจในเชิงลึก ที่เสนอเช่นนี้ เพราะผมอยากให้คนพื้นที่ได้ใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับความคิดเชื่อของตัวเอง อีกทั้งยังมีอำนาจในการต่อรอง หรือกระทั่งปกป้องพื้นที่จากการเข้าถึงของนโยบายรัฐ ซึ่งอาจไปขัด หรือถึงขั้นละเมิดความคิดเชื่อหลักของพื้นที่ได้  

แต่เรื่องที่ผมยังนึกไม่ออกก็คือ ประเด็นของเรื่องการจัดเก็บภาษีและการจัดสรรงบประมาณ ว่าควรจะเป็นไปในลักษณะใด เนื่องด้วยตัวเองยังไม่มีความรู้ในด้านดังกล่าว ซึ่งบางทีอาจจะมีผู้ตอบปัญหานี้ไว้ในแหล่งความรู้อื่นๆแล้ว หรือหากมีใครคิดเห็นอย่างไร จะเสนอไว้ในที่นี้ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง  

แล้วก็…เรื่องที่สำคัญที่สุดอีกเรื่อง

จะเอาอย่างไรกับไทยอื่นในพื้นที่ดี…  

คิดถึงตรงนี้แล้วก็น่าขัน อาจเพราะสร้างไทยขึ้นมาด้วยการสร้างและยัดเยียดความเป็นอื่นแก่ผู้อื่น สุดท้ายแล้วไทยบางส่วนที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นก็กลับต้องไปเป็นอื่นเสียเอง   

คงดังสัจธรรมว่า บริบทเปลี่ยนตัวบทก็เปลี่ยน

Posted in บทความ | Leave a Comment »

หมีมองคน: บทบันทึกแห่งการเคลื่อนที่ของคอกคิดอันคับแคบ (1)

Posted by ปราชญ์ วิปลาส บน 13 กันยายน, 2007

โดย…ปราชญ์  วิปลาส

ผมไม่อาจก้าวเท้าออกไปนอกคอกคิดอันคับแคบของตัวเองได้….  

ผมปฏิบัติต่อมันได้แย่ที่สุดคือทำให้ความคับแคบนั้นคับแคบมากขึ้น หรือดีที่สุดคือทำให้ความคับแคบนั้นคับแคบน้อยลงให้มากที่สุด  

ผมทำได้เพียงเท่านั้น…

  

คงเป็นเรื่องแปลกอยู่สักหน่อย ที่ผมมาเขียนบันทึกการเดินทางหลังจากที่มันผ่านมาแล้วถึงห้าเดือน (อาจเพราะผมคิดว่ามันเป็นสิ่งน่าจะเขียนในทันที) แต่การจะวิเคราะห์ข้อมูล เกร็ดต่างๆ เพื่อสังเคราะห์เอาแก่นแห่งการเดินทางนั้นออกมาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่เฉพาะแต่กับการเดินทางจากที่หนึ่งสู่ที่หนึ่ง กับการเดินทางจากการเกิดสู่การตายของชีวิตก็คงเช่นกัน

  

ด้วยกระหายอยากเห็นชีวิตชุมชนหมู่บ้านที่ตัวเองไม่เคยสัมผัสมาก่อนแต่อยากเขียนถึง ผมติดสอยตัวเองไปกับรุ่นน้องที่เดินทางไปประสานงานกับองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นให้อาจารย์ที่จังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ ลึกลงไปในความปรารถนาอยากเห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของผู้คนในพื้นที่ห่างไกล ผมเพียงอยากหาข้อมูลมาเสริมสร้างการเขียนเรื่องสั้นของตัวเองให้สมจริงยิ่งขึ้น เพื่อสานฝันความปรารถนาเป็นนักเขียนของตัวเองก็เท่านั้น

  

ถึงที่หมายตอนเจ็ดโมงเช้า ทันทีที่ลงจากรถ ผมก็ได้พบสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงประการหนึ่งทันที มันคือรูปแบบของการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดอย่างเข้มข้น ความจริงข้อนั้นแผ่ผ่านมาตามเสียงเรียกเซ็งแซ่ของเหล่าคนขับรถรับจ้างที่หากินอยู่ที่ขนส่ง ที่ต้องใช้คำว่าเข้มข้นก็เพราะรูปแบบการเสนอบริการที่ทำให้คนขี้ระแวงอย่างผมรู้สึกเหมือนถูกคุกคามมันทำให้เห็นภาพเป็นเช่นนั้นจริงๆ

  

ทราบจากพี่คนขับสามล้อคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มรุมล้อมว่า ศาลากลางนั้นอยู่ไกลออกไปถึงสิบกิโล ดูเวลาแล้วกว่าราชการในความคิดผมและรุ่นน้องจะพร้อมบริการประชาชน เราน่าจะมีเวลาถึงอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เราจึงปลีกตัวไปนั่งทานข้าวกันก่อน และอีกเหตุผลหนึ่ง เราไม่แน่ใจว่ามันจะไกลขนาดนั้นจริงๆ เราจึงหน่วงเวลาเพื่อหาทางเสริมสร้างความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร เพื่อชิงเอาความได้เปรียบที่อาจสูญเสียไปจากการที่มีข้อมูลน้อยกว่าคืนมา

  

เราทำสำเร็จ…

  

ทราบจากสองคุณป้าที่ร้านขายของชำที่ขนส่ง แกกระซิบตอบคำถามของพวกผมว่า ศาลากลางนั้นห่างไปสามถึงสี่กิโล ทั้งยังกำชับว่าอย่าไปบอกคนขับสามล้อ เดี๋ยวแกจะโดนว่าเอา พวกผมกล่าวขอบคุณแล้วไปนั่งทานข้าว ความคิดดั้งเดิมประการหนึ่งของผมเกิดร่างชัดขึ้น สิ่งที่เรียกว่าความจริงก็เหมือนของทุกอย่างในโลก มันเป็นที่ต้องการแต่เฉพาะในหมู่ผู้ที่ได้ประโยชน์จากมันเท่านั้น 

  

เช่นนั้นแล้วขึงไม่น่าแปลกใจ ที่ความจริงบางอย่างในบ้านเมืองจะต้องได้รับการปิดบัง ซึ่งผมเข้าใจในเหตุผล แต่คงยากจะหาวันอันเหมาะสมไปยอมรับมัน

  

โลกในปัจจุบันพามนุษย์ให้ก้าวข้ามกำแพงสิ่งสมมติต่างๆ ก้าวข้ามและเดินย้อนกลับไปสู่การดำรงชีวิตอย่างบุพกาล เป็นชีวิตที่ทำการรักษาท่วงทำนองลมหายใจให้คงที่โดยยึดตามจังหวะดนตรีแห่งสัญชาตญาณการเอาตัวรอดเป็นหลัก มิจำเป็นต้องตีกรอบการบรรเลงด้วยกฎเกณฑ์ศึลธรรมความถูกต้องใดใดอันเป็นสิ่งสร้างขึ้นภายหลัง และเมื่อเป็นสิ่งสมมติแล้วก็ป่วยการจะไปหาผิดหาถูกสัมบูรณ์กับมัน จริงเท็จถูกผิดที่มีอยู่นั้นล้วนเป็นไปโดยสัมพัทธ์ หากไร้ด้านหนึ่งแล้วย่อมไม่มีอีกด้านหนึ่ง เรามีด้านหนึ่งไว้เพื่อเปรียบเทียบหรือเพื่อสร้างความหมาย/ลักษณะค่าให้กับอีกด้านหนึ่งเท่านั้น 

ผมไม่มองการหลอกลวงของพี่ๆคนขับสามล้อเป็นเรื่องผิด ผมเองก็เคยผ่านช่วงเวลาที่ต้องรักษาคงที่แห่งลมหายใจอย่างไม่เลือกวิธีการมาบ้าง และหลายๆคนก็คงเช่นกัน แน่นอนว่าเป็นไปโดยก้าวข้าม มุดลอด หรือบิดเบือนกำแพงศีลธรรมหรือกฎเกณฑ์ใดใดก็ตาม ที่น่าสนใจคือปัจจัยอะไรที่บีบมนุษย์ให้เลือกจะก้าวข้ามมันไปต่างหาก อะไรที่ทำให้ศีลธรรมหรือกฎเกณฑ์ใดใดสูญสลายความเย้ายวนจนไม่น่าเอาเป็นที่ยึดเหนี่ยวอีกต่อไป ซึ่งหากตอบว่าความโลภ คนที่ตอบก็คงตกติดอยู่กับชาตินิยมแบบทหารที่แฝงฝังอยู่ในแบบเรียนและชีวิต ความคิดแบบที่ว่าโลกนี้มีเพียงสองด้าน เป็นเราและเป็นอื่น ไม่อาจมีปัจจัยอื่นๆอีก ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่น่าจะใช่แค่นั้น และน่าจะซับซ้อนกว่านั้น  

 

การที่พี่คนขับสามล้อบอกว่าศาลากลางอยู่ไกลเป็นสิบกิโลนั้น เราสามารถมองโดยใช้บริบทความหมายอื่นที่ไม่ใช่เพียงมิติของศีลธรรมได้ เมื่อมองในบริบทของการขายบริการ ข้อมูลเหนือจริงที่เขาให้มานั้นก็คือการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการของตัวเอง ไม่ต่างอะไรกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่างๆทางโทรทัศน์หรือสื่ออื่นใด ที่ล้วนโหมประโคมสรรพคุณให้เกินจริงเท่าที่กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะอำนวย   

 

หรือให้ใกล้ตัวอีกสักนิด เวลาที่เขียนใบสมัครงาน หลายคนคงอยากเขียนให้มันดูเกินจริงไว้บ้าง จะได้สร้างค่าตัวให้ตัวเองได้มากขึ้น การขายตัวให้กับตลาดแรงงานในครั้งนั้นๆจะได้มีมูลค่าสูงขึ้นไปอีก ส่วนเรื่องของคุณค่านั้นไว้ค่อยว่ากันที่หลัง ว่าสมดังมูลค่าที่โก่งไปในคำชวนเชื่อหรือไม่  ผมมองว่ามันเป็นการผสมผสานอย่างเป็นผลต่อเนื่องกันของทุนนิยมและบริโภคนิยม ถึงตอนนี้แล้วผมถึงกับตระหนักได้ถึงความน่ากลัวของระบบทั้งสอง ไม่ใช่น่ากลัวในเชิงชวนให้ต่อต้าน แต่น่ากลัวที่ว่ามันสามารถแทรกซึมลงไปในการดำเนินชีวิตและสร้างรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนที่อยู่ในระบบ โดยที่ตัวคนผู้นั้นอาจไม่ต้องรู้ด้วยซ้ำว่าทุนนิยมและบริโภคนิยมคืออะไร และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วการจะไปกล่าวหาว่าพี่คนขับสามล้อเป็นพวกตกติดจนหลุดไหลไปกับกระแสของระบบจนก้าวข้ามกำแพงศีลธรรมย่อมไม่ใช่เรื่องถูกต้อง  เรื่องอะไรจะไปว่าเขา…บ่อยครั้งเราก็เป็น  

 

เท่าที่ผมคิดได้ การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการของตัวเองของพี่คนขับสามล้อ ส่วนหนึ่งคือการพยายามสร้างส่วนเกิน (Surplus) เพื่อสามารถลงทุน (ซื้อเชื้อเพลิงรถ) เพื่อทำการผลิตซ้ำซึ่งบริการของตัวเองต่อไป และเมื่อผนวกกับการสร้างส่วนเกินเพื่อใช้ในการบริโภค (ทั้งสิ่งจำเป็นและสิ่งที่ถูกทำให้เชื่อว่าจำเป็น) ด้วยแล้ว ย่อมไม่น่าแปลกใจหากจะต้องมีการโฆษณาชวนเชื่อให้ดูเกินจริงมากขึ้นไปอีก  

 

และหากมองข้ามมิติของความโลภ การโฆษณาเกินจริงดังกล่าวสามารถสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของเขานั้นยังมี สิ่งขาด อยู่ ซึ่งผมว่าเราไม่จำเป็นต้องไปมองเลย ว่าสิ่งขาดที่เขารู้สึกนั้นแท้จริงแล้วมีความจำเป็นต่อชีวิตหรือไม่ เพราะหากจะหาผู้รับผิดจากกรณีดังกล่าว ตรงนี้ผมโยนไปให้ระบบที่ล่อลวงให้คนรู้สึกว่าตนยังมีสิ่งที่ขาดอยู่ ล่อลวงโดยสร้างภาพให้เห็นว่าการเป็นมนุษย์นั้นจำเป็นต้องมีปัจจัยใดบ้าง ล่อลวงเพื่อดำรงไว้ซึ่งการคงอยู่และดำเนินไปของระบบ ทั้งที่จริงๆแล้วที่เขามีอยู่อาจพอเหลือจะพอหากหลุดพ้นจากบริบทของระบบนี้ออกไป  

 

ซึ่งตรงนี้ผมอยากตั้งคำถามต่อผู้ที่มักกล่าวหาการผิดศีลธรรมในประเด็นต่างๆ (ทั้งนี้ทั้งนั้นขอเว้นอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ไว้คนหนึ่ง ไม่ใช่เพราะชื่นชอบท่านเป็นการส่วนตัว แต่เท่าที่รู้จักท่านผ่านตัวหนังสือในงานของท่าน คำว่าศีลธรรมของอาจารย์นิธิน่าจะกินขอบเขตความหมายกว้างไกลเกินกว่าจะเอาไปปะปนกับศีลธรรมลมปากแบบอนุรักษ์นิยมบุพกาล) ว่าแท้จริงแล้ว แม้สุดท้ายจะเป็นตัวบุคคลที่ตัดสินใจว่าจะก้าวข้ามกำแพงของศีลธรรมหรือไม่ แต่มือที่มองไม่เห็นของระบบนั้นจะเป็นประเด็นปัญหาที่เรามองข้ามไปได้อย่างนั้นหรือ ในเมื่อบางครั้งหรือบ่อยครั้งในบางคน หากไม่ยอมก้าวข้ามกำแพงศีลธรรมไปตามแรงฉุดนำของระบบ ก็เป็นมือเดียวกันของระบบนั่นเองที่จะย้อนกลับมาบีบบี้ชีวิตนั้นให้แหลกสลาย  

 

บางคนอาจคิดว่าศีลธรรมเป็น Subjective ของแต่ละ Individual แต่เมื่อมันเป็นปัญหาขึ้นมา เราจะลืมไม่ได้ว่าแท้จริงแล้วทุกปัจเจกนั้นล้วนสัมพันธ์อยู่กับระบบของสังคม ยิ่งหากแรงเหนี่ยวนำของสังคมนั้นรุนแรง เรายิ่งจะลืมไปไม่ได้ ว่าความสามารถในการต่อต้านแรงเหนี่ยวนำนั้นย่อมแตกต่างไปในแต่ละคน ซึ่งบางครั้งแรงต่อต้านที่ว่านั้นเกี่ยวเนื่องอยู่กับความจำเป็นในการดำรงเสถียรภาพของลมหายใจ หรือถึงขั้นความหมายของความเป็นคน เช่นนั้นแล้วเราจะมองแค่ว่ามันเป็นเรื่องของปัจเจกหน่วยหนึ่งโดยเฉพาะได้หรือ  

 

มาตรฐานความเป็นมนุษย์ในใจคนมีการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบไปตามยุคสมัย แม้แท้จริงแล้วมาตรฐานนั้นอาจเป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของปัจเจกหน่วยหนึ่ง แต่ก็แน่นอนว่ามันย่อมเกิดขึ้นมาจากการขัดเกลาของยุคสมัย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการ ติดป้ายความหมาย โดยยุคสมัย และมนุษย์ย่อมแสวงหาวิธีที่จะรักษาความเป็นมนุษย์ของตัวเองเอาไว้ภายใต้เงื่อนไขของยุคสมัย อาจจะโดยเดินตามหรือวิ่งสวนกฎเกณฑ์หรือความเชื่อหลักแห่งยุคสมัยนั้นๆ (หรือแคบลงมาคือเพียงในสังคมที่เขาอยู่ แต่แน่นอนว่าสังคมนั้นก็ถูกกล่อมเกลาโดยยุคสมัยเช่นกัน) ตามแต่ว่าตัวเองนั้นคิดถือยึดเชื่อในแบบใด แต่สุดท้ายแล้วย่อมเป็นไปเพื่อรักษาคุณค่าของตัวเองไว้ไม่ต่างกัน  

 

บางครั้ง เพื่อรักษาคุณค่าของตัวเองตามความคิดหลักของยุคสมัย มนุษย์ก็จำต้องก้าวข้ามหรือละทิ้งความเชื่อบางอย่างไป ซึ่งบางครั้งความเชื่อนั้นอาจจะเป็นคุณค่าดั้งเดิมที่ตัวเขาเคยยึดถือเมื่อนานแสนนานมาแล้ว แต่แล้วก็ต้องยอมก้าวข้ามมันไป เมื่อแรงบีบจากสังคมคอยเตือนให้รู่ว่า หากมัวแต่รักษามันไว้ ความเป็นคนตามการระบุคุณค่าโดยยุคสมัยจะต้องสูญสลายไป  

 

แม้จะมีการพยายามพาผู้คนกลับไปหาคุณค่าความเป็นมนุษย์โดยวัดที่จิตใจ ส่งเสริมให้คนตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งวัตถุ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกในปัจจุบันยังคงมีรูปแบบการสร้างคุณค่าความเป็นมนุษย์ทางใจโดยใช้วัตถุเป็นตัวประกอบอยู่ หรือกระทั่งสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ (เช่นคุณภาพชีวิตหรือการศึกษาเป็นต้น) ก็เช่นกัน และก็วัตถุและสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุที่ว่านั่นเองที่มีอยู่อย่างหลากหลายรูปแบบ และโลกปัจจุบันก็พยายามขายมันอย่างเอาเป็นเอาตายไปพร้อมๆกัน ทั้งขายและสร้างภาพตีตราว่าสิ่งเหล่านั้นจำเป็นต่อความเป็นมนุษย์แห่งยุคสมัย  โลกปัจจุบันมันซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะมองศีลธรรมว่าเป็นเพียง ถูก/ผิด ดี/เลว อีกต่อไป มันมีมิติของความลึกที่มากมายกว่านั้นซ่อนอยู่ หากเพียงจะคิดให้ถึงกันเท่านั้น  

 

มาถึงตอนนี้ ผมกลับนึกขึ้นมาได้อย่างหนึ่งว่า ครั้งนั้นผมเพียงเปรียบเทียบข้อมูลระยะทางจากสองแหล่ง เอาเข้าจริงแล้วมันไม่มีหลักฐานใดมาชี้ชัดได้เลยว่าแหล่งใดถูก แต่ผมกลับเลือกเชื่อในแหล่งที่เชื่อว่าจะทำให้ตัวเองได้ใช้บริการในราคาถูกว่าเป็นข้อมูลที่ถูก และแน่นอน มันอยู่บนพื้นฐานของการมองโลกเพียงสองมิติ ถูก/ผิด ดี/ชั่ว โดยเกิดขึ้นจากการที่ตัวเองวาดภาพในใจไว้ก่อนแล้วว่า เหตุการณ์การโก่งราคาลักษณะดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นแก่คนต่างถิ่น การไม่อาจยินยอมต่อความรู้สึกของการถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งผมเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน ว่าหากตอนนั้นผมมองลงไปในเชิงลึกอย่างที่มองในตอนนี้ ผมจะเลือกเชื่อใคร และจะเลือกประโยชน์ของใคร ของพี่คนขับสามล้อ หรือของตัวเอง  

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจำได้แม่นและเสียใจมาจนบัดนี้ก็คือ ผมไปถึงในศาลากลางด้วยค่าโดยสารสี่สิบบาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่อรองลงมาจากห้าสิบบาทที่พี่คนขับเสนอ และเมื่อการเดินทางสิ้นสุดลง กับระยะทางของมัน ผมพบว่าตัวเองเต็มใจจะจ่ายจริงถึงหกสิบบาท  

 

และเสียใจมากยิ่งขึ้นหลังจากที่ยืนโง่หันซ้ายหันขวาไปมา งุนงงต่อตึกสำนักงานราชการอันหลากหลายที่รายล้อม แล้วพี่คนขับกรุณาชี้นิ้วบอกว่าให้เดินไปทางไหน  

Posted in บทความ | 1 Comment »

หมีมองคน: คุยเรื่องภาคใต้กันแบบเบาๆ

Posted by ปราชญ์ วิปลาส บน 12 กันยายน, 2007

หลายวันก่อน เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งถามผมถึงวิธีแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า สจชต.’) ในฐานะที่ตัวเองก็มีพอจะมีความรู้และความสนใจในปัญหาดังกล่าวอยู่ระดับหนึ่ง จึงอยากจะขอตอบอีกครั้งในที่นี้ อย่างเท่าที่ความรู้ที่ตัวเองมีจะอำนวย 

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนแก้ปัญหาที่สาเหตุ เพราะเชื่อว่าแก้ได้ถาวรกว่าการแก้ไปแบบเปลาะๆเฉพาะหน้า เช่นนั้นแล้ว ในสภาวะที่ผมไม่อาจแน่ใจว่า แท้จริงแล้ว ปัญหาความรุนแรงในสจชต.ที่ดำรงและดำเนินอยู่ในขณะนี้นั้นมีสาเหตุจากเรื่องใดกันแน่ ผมย่อมไม่อาจชักธงขึ้นมาแทง ว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ด้วยวิธีการใด 

แต่หากแท้จริงแล้ว สาเหตุแห่งความรุนแรงที่แท้จริงนั้นเป็นดังใจผมคิดเชื่อ ผมก็คงต้องแทงธงลงไป ว่าแนวอุดมการณ์แห่งรัฐไทย ที่ผมเชื่อว่าคิดเชื่อและปฏิบัติต่อปัญหาลักษณะนี้อย่างชาตินิยมแบบทหาร ย่อมไม่มีทางจะแก้ไขปัญหาความรุนแรงดังกล่าวได้ 

นอกจากเรื่องการเชิดชูสถาบันแล้ว มิติความเชื่อหนึ่งของชาตินิยมแบบทหารคือการแบ่งแยก ความเป็นเรา และ ความเป็นอื่น ซึ่งดูจะตอบรับกับแนวอุดมการณ์ชาตินิยมแห่งรัฐประการหนึ่งอันมีว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ (รธน. ม.1) ได้เป็นอย่างดี เนื่องด้วยเราเหมารวมความ เป็นของไทย โดยขีดกรอบเอาจากพิกัดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ จากสัญชาติอันระบุไว้ในบัตรประชาชน หรือจากขอบเขตคุ้มครอง (ครอบงำ?) ของอำนาจรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นการเหมารวมเอาโดยไม่สนใจพื้นเพภูมิหลัง ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ หรือกระทั่งอัตลักษณ์ดั้งเดิมของผู้คนในพื้นที่ต่างๆของประเทศ เป็นความพยายามทำให้ทุกคนในขอบเขตอยู่ในแม่พิมพ์เดียวกัน เพื่อง่ายต่อการควบคุมจัดการ 

แม้จะมีใจความแห่งตัวหนังสือในมาตราอื่นๆของรัฐธรรมนูญ ที่จารึกขึ้นเพื่อรองรับสิทธิในการคงอยู่ของความแตกต่างเหล่านั้น แต่แท้จริงแล้วเมื่อถึงคราวที่รัฐจะทำการใดใด สิทธิในการคงอยู่ของความแตกต่างเหล่านั้นมักถูกลิดรอนไปเพื่อผลประโยชน์ใหญ่ของชาติ (ดังที่รัฐบอก) อยู่เสมอ อีกทั้งยังมีความพยายามจะกลืนกินวัฒนธรรมอื่นๆนั้น ให้กลายเป็นวัฒนธรรมแบบเดียวกับที่แผ่ออกไปจากไทยภาคกลาง (รัฐ) มาตลอดด้วย ซึ่งกระบวนการกลืนกินดังกล่าว บางครั้งก็เป็นไปโดยใช้ความรุนแรง ดังเช่นกรณีกระบวนการในการทำให้รัฐนิยมสัมฤทธิ์ผลในสมัยจอมพลป.เป็นต้น 

เช่นนั้นแล้วในวันนี้ ตราบที่ผมยังไม่อาจนึกถึงเหตุแห่งปัญหาในมิติอื่นใดออก ผมจะขอพูดโดยยึดเอาความเชื่อดั้งเดิม กล่าวคือเป็นไปเพราะความรุนแรงทั้งโดยตรงและเชิงโครงสร้างที่รัฐทำไว้แต่อดีต ได้ก่อให้เกิดความไม่เชื่อถือ ไม่ไว้ใจ ไม่ปรารถนาจะได้รับความคุ้มครอง ปกครอง หรือครอบงำใดใดจากรัฐไทยอีกต่อไปนั่นเอง 

ซึ่งคงต้องบอกก่อนว่า ความคิดดังกล่าวนั้นคงเป็นไปแต่ในส่วนของผู้ที่ดำเนินการก่อการ (ผมจะไม่ใช้คำว่าก่อการร้าย เพราะแม้การที่ก่อจะดูร้าย แต่หากเจตจำนงของการก่อการเป็นดังผมคิดเชื่อ ผมก็ไม่คิดว่าการที่ก่อนั้นเกิดขึ้นจากจุดประสงค์อันเลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นไปในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่แค่พลเมือง) อยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะกับชาวบ้านทั่วไปในพื้นที่สจชต.นั้น เป็นที่แน่นอนแล้วว่ากำลังตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อรู้ข้อมูลฝ่ายก่อการแล้วจะบอกกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตัวเอง ครั้นจะนิ่งเงียบเฉยไป ก็ใช่ว่าความปลอดภัยจะมีเสถียรภาพ เพราะผลแห่งความรุนแรงนั้นนับวันยิ่งแผ่กระจายออกไปจนดูคล้ายไม่เลือกศาสนา 

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ในบางครั้งความรุนแรงที่ฝ่ายก่อการสร้างขึ้นจะพุ่งเป้าไปที่ฝ่ายศาสนาเดียวกันกับผู้ก่อการ เช่นกรณีทหารพรานหญิง อาสาสมัครรักษาดินแดน หรือผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนอิสลาม ผู้ที่เป็นเป้าหมายนั้นก็ยังถือได้ว่าเป็นผู้ที่ยอมรับการควบคุมเชิงโครงสร้างของรัฐไทย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ยอมตนทางความคิดเชื่อไปในทางเดียวกันกับรัฐไทย เช่นนั้นแล้ว การก่อการดังกล่าวจึงยังคงเป็นสัญลักษณ์ อันส่อแสดงถึงการประกาศตนว่า ไม่เอาในสิ่งที่เป็นรัฐไทย ได้อยู่ดังเดิม (ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่นับกรณีผู้ที่ไม่ได้คิดเชื่ออย่างรัฐไทย แต่ได้รับผลกระทบหรือลูกหลงจากความรุนแรง) 

เช่นนั้นแล้ว ผมจึงเชื่อว่า ความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นและดำเนินอยู่ในสจชต.ขณะนี้ เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงการไม่ยอมรับการควบคุมของรัฐไทย ซึ่งคงเอาบริบทของการเรียกร้องอย่างสันติตามวิถีประชาธิปไตยมาใช้ไม่ได้ เพราะหากได้ลองศึกษาประวัติศาสตร์ความพยายามเรียกร้องในวิถีดังกล่าว เราจะพบว่ารัฐไทยตอบแทนการเรียกร้องนั้นอย่างที่ทำให้เกิดความเข็ดขยาด ด้วยทั้งการใช้ความรุนแรงโดยตรงอย่างลับๆ การบิดเบือนให้เป็นอื่น จนทำให้ฝ่ายเรียกร้องไม่อาจเชื่อถือวิธีการเรียกร้องอย่างสันติตามระบอบประชาธิปไตยได้อีกต่อไป ซึ่งต่อให้ความรุนแรงที่ฝ่ายก่อการในปัจจุบันก่อขึ้นนี้ไม่ได้มีความสืบเนื่องใดใดกับความรุนแรงที่ฝ่ายก่อการอื่นๆในอดีตเคยก่อขึ้น แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประสบการณ์จากประวัติศาสตร์ได้กลายเป็นตัวชี้ชัดแล้วว่าการเรียกร้องโดยสันติวิธีนั้นไม่อาจเป็นผล 

ผมไม่ใคร่จะแน่ใจนักว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เข้าใจความหมายของคำว่า แบ่งแยกดินแดน มากน้อยเพียงไหน ซึ่งกระทั่งกับที่ตัวเองเข้าใจอยู่นั้น ก็ใช่จะมั่นใจว่ามันถูกต้องอย่างครบถ้วนกระบวนความ คือผมสรุปง่ายๆว่ามันคือความปรารถนาที่จะมี Autonomy [ผมจะไม่ใช้คำว่า เอกราช เพราะมันเป็นการแปลคำว่า Autonomy ให้เข้ากับรูปแบบการปกครองแบบไทย กล่าวคือมีพระราชาองค์เดียว (เอกราช=เอก+ราชา)] หรือมีสิทธิ์ในการปกครองตนเอง  

หากมองด้วยมุมมองของรัฐ ความคิดดังกล่าวย่อมเข้าข่ายกบฎ แต่หากมองด้วยมุมมองของผมซึ่งเป็นปัจเจกหน่วยหนึ่งแล้ว ความคิดดังกล่าวภายใต้บริบทของสจชต.ถือเป็นการภักดีต่ออัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ เฉกเช่นที่มักพูดกันปาวๆว่าเราเป็นไทย  

ซึ่งสำหรับไทยเราแล้วก็น่าตลก เพราะแม้พูดกันปาวๆเยี่ยงนั้น แต่หากถามว่าไทยคืออย่างไรอาจต้องนิ่งไปนานก่อนจะตอบ 

ผู้คนดั้งเดิมในสจชต.นั้นไม่ใช่คนไทยมาแต่บรรพกาล หากแต่มาเป็นคนสยามและไทยตามนิ้วอาณาจักรและต่อมาคือรัฐชี้สั่งในภายหลังตามลำดับ สำนึกที่แท้ของพวกเขาคือตัวเองไม่ใช่ ออแฆฮซีแย อันหมายถึงคนสยามหรือคนไทย หากแต่พวกเขาคือ ออแฆฮนายู อันหมายถึงคนมลายู ซึ่งโดยสำนึกแล้ว พวกเขาไม่มีวันจะเป็นคนไทยในฐานะของ กลุ่มชาติพันธุ์ไทย ไปได้เลย โดยเฉพาะในกรณีที่พวกเขาไม่มีวันนับถือศาสนาพุทธ 

และหากถามว่า แล้วเราได้พื้นที่บริเวณนั้นมาอย่างไร ก็ไม่ต้องไปศึกษาจากประวัติศาสตร์นอกชั้นเรียนที่ไหน เพราะในตำราเรียนแต่อ้อนออกก็มีบอกอยู่แล้วว่าใช้กำลังหักหาญมา แต่แน่นอนว่าอยู่ในรูปของเอกราชานุภาพ เป็นปรีชาสูงสุดตามยุคสมัย เทียบตามบริบทแห่งเหตุการณ์แล้วก็หาใช่ความป่าเถื่อนไร้อารยะแต่อย่างใด 

ผมไม่อินังขังขอบหรือคิดกล่าวโทษต่อการใช้กำลังควบรวมดินแดนในอดีต เพราะคิดแล้วอาจถือว่าเป็นการกระทำอันสมเหตุสมผลตามบริบทต่างๆแห่งยุคสมัย สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือ เมื่อได้มาแล้วเราทำอย่างไร ใช้สิ่งใดในการยึดโยงชีวิตอันแตกต่าง จิตใจอันแตกต่าง จากดินแดนอันแตกต่างไว้กับเรา เราทำได้หรือไม่ กับการทำให้เขารู้สึกวางใจที่จะอยู่ร่วมกับเรา หรือยิ่งทีเราก็ยิ่งทำให้เขาตระหนักถึงความเป็นเพียงชีวิตที่ถูกช่วงชิงมา ซึ่งตรงนี้ผมขอเว้นที่ว่างไว้ให้ศึกษากันเอง ว่าเราทำเช่นใดบ้าง ผลจึงส่งออกมาเป็นความรุนแรงในพื้นที่ดังเช่นทุกวันนี้ 

ปัญหาที่เป็นมานานแล้วและยังคงเป็นอยู่ในขณะนี้ก็คือ รัฐไทยไม่ยอมรับในความปรารถนาจะมี Autonomy ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นใดที่ตนประกาศสิทธิ์ครอบครองอยู่ ไม่ยอมรับความปรารถนาจะหลุดพ้นจากเอกราชไปสร้าง Autonomy ให้ตัวเองของชาติพันธุ์อันแตกต่างเหล่านั้น 

สงสัยรัฐจะไม่เข้าใจเรื่องความรัก…

ผมมองปัญหานี้ด้วยตรรกะง่ายๆแบบที่ใช้กับความรักคือ ถ้าดูแลเขาไม่ได้ก็ให้ปล่อยเขาไป 

ลองมองว่าไทยนั้นเป็นไอ้หนุ่มซีแยที่ไปลักเอาผู้สาวนายูมา ช่วงชิงมาด้วยความหื่นกระหาย ปฏิบัติต่อนางอย่างเอาแต่ใจมากกว่าจะเอาอกเอาใจหรือเข้าอกเข้าใจเฉกเช่นคนรักกันพึงกระทำ ปากหรือก็ดีแต่พร่ำพูดคำรัก อยากหนักหนาว่าจะให้อยู่ด้วยกัน หากแต่การกระทำตลอดมานั้นหาใช่ไม่ เมื่อวันหนึ่งนางอยากจากไป และไม่ใช่อยากกลับไปหาพ่อแม่ที่ไหน อยากเพียงแค่ไปมีชีวิตอย่างที่ตัวเองคิดเชื่อ อยากเพียงไปให้พ้นจากไอ้หนุ่มกักขฬะนี้เท่านั้น ไอ้หนุ่มนี่ก็กลับไม่ยอม เพราะหนุ่มนี้มันเชื่อนักว่าเมียข้าคือแขนขา คือส่วนหนึ่ง จักแบ่งแยกไปจากข้ามิได้ 

เอาแต่ใจเหลือเกิน… 

แม้ผมจะมองปัญหานี้ด้วยตรรกะง่ายๆดังกล่าว แต่เมื่อมองกลับมาในระดับรัฐแล้ว การที่ดูแลเขาไม่ได้แล้วก็เลยจะปล่อยไปนั้นก็แลดูจะเป็นการมักง่ายต่อไทยพุทธหรือไทยอื่นที่ไม่ใช่ไทยมุสลิมในสจชต.เกินไป 

แต่เราสามารถใช้ตรรกะดังกล่าวในการสร้างทางแก้ปัญหา แบบที่คนๆหนึ่งพึงกระทำต่อคนที่ตนรัก หรือต่อคนที่เขาปรารถนาให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ขั้นแรกคือเราต้องสำเหนียกให้ได้ถึงความผิดอันชั่วร้ายที่ตัวเองกระทำต่อเขา สำเหนียกให้ได้อย่างจริงใจครบถ้วนเช่นคนที่ปรารถนาจะสำนึกผิด ไม่ใช่อย่างคนที่ปรารถนาเพียงจะได้รับการให้อภัย ซึ่งหากถามว่าจะไปสำเหนียกอย่างไรให้ได้ครบถ้วน ก็ความผิดที่ทำมานั้นมันทั้งยาวนานและมากมายเหลือคณา ก็ให้ลองหันหน้านักวิชาการประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกกระแสหลัก นักวิชาการในพื้นที่ หรือกระทั่งตัวชาวบ้านในพื้นที่ ผมเชื่อว่าพวกเขามีบันทึกความผิดที่รัฐทำไว้อยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ลงไปถึงระดับรายละเอียด โดยเฉพาะในส่วนของนักวิชาการนั้น อาจได้ข้อมูลลึกที่สุดถึงระดับแรงจูงใจแห่งรัฐเลยทีเดียว 

ซึ่งเมื่อสำนึกสำเหนียกได้ครบแล้วก็ขอให้สารภาพออกมาอย่างเป็นทางการ สารภาพให้หมดเปลือก เพราะการสารภาพไม่ใช่การหาเสียง พูดไปให้หมดคงไม่เป็นไร 

ผมอยากเห็นรัฐไทยก้มหัวให้ผู้อื่นที่มีอำนาจน้อยกว่าบ้าง ก้มหัวอย่างเคารพว่าแม้มีอำนาจน้อยกว่า แม้อยู่ใต้การปกครอง แต่พวกเขานั้นก็มีตัวตน มีความคิด มีพิกัดตัวตนทางประวัติศาสตร์ มีความทรงจำความสำนึกเรื่องอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง และพึงได้รับสิทธิต่างๆเฉกเช่นที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งซึ่งมีความคิดเชื่อไปในทางเดียวกันพึงได้รับ 

ทีนี้ก็ถึงขั้นตอนสำคัญ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นหลักสำคัญในการอยู่ร่วมกัน นั่นก็คือการเจรจาบนพื้นฐานของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา และให้ลดเอาอคติเรื่องอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวอันแบ่งแยกมิได้ลงไปเสียบ้าง ผมอยากเห็นการเจรจาต่อรองอย่างเป็นทางการและเปิดเผย และประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะในสจชต.ควรมีส่วนร่วมรับรู้ในการเจรจานั้นด้วย 

และเมื่อขั้นตอนดังกล่าวมาถึง ผมคิดว่า คนที่ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร ควรเป็นประชาชนในสจชต. ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้น 

พูดโดยหัวใจเอนเอียงอย่างเสี่ยงตะราง หากมีการเจรจาเกิดขึ้นจริง ผมเชื่อว่าข้อเสนอของฝ่ายก่อการอาจมีน้ำหนักจูงใจได้มากกว่า ด้วยความใกล้ชิดทางศาสนา ความเชื่อ ความคล้ายคลึงแห่งอัตลักษณ์ 

เหลือแต่ฝ่ายเราเท่านั้น ว่าถ้าผลออกมาในเชิงต้องการจากไป เรากล้าพอจะเคารพสิทธิอันชอบธรรมในฐานะชีวิตแห่งสากลโลกของผู้อื่น จนก้าวข้ามข้อจำกัดของรธน. ม.1 ไปได้หรือไม่  

แต่ผมคิดว่า ก็ถ้าในเมื่อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เรายังฉีกทิ้งได้ตั้งหลายครั้งคราว ถ้าเพียงมาตราเดียว หลับหรี่ตามองไปบ้างก็ไม่น่าจะเป็นอะไรกระมัง

Posted in บทความ | 1 Comment »

สำหรับผู้ที่เข้าไม่ได้หรือหาไม่เจอ

Posted by ปราชญ์ วิปลาส บน 10 กันยายน, 2007

สำหรับผู้ที่เข้าลิงค์ไปยัง “mp3 ในรอยแยกของสถาบันครอบครัว” จาก www.openfest.net ไม่ได้ หรือหาในนี้ไม่เจอ ให้ คลิกที่นี่ เลยครับ

Posted in บทความ | Leave a Comment »

แสงไฟในตาฟาง

Posted by ปราชญ์ วิปลาส บน 2 เมษายน, 2007

 แสงไฟในตาฟาง
โดย…ปราชญ์ วิปลาส

มันคือแสงความสุขเจิดจ้าอันแสนริบหรี่…

สาดสลัวสะท้อนขึ้นในดวงตาที่ฝ้าฟาง ส่องแสงส้มบางแทรกขึ้นท่ามกลางความมืดมิดของซอกเงาที่มืดมิดที่สุดในแดนเมือง เพียงมุมหนึ่งใต้ทางด่วน มุมมืดอันแสนรกร้าง ห่างไกลจากความสนใจของผู้คน และลึกเร้นจากความปลอดภัย อันเป็นสิ่งพึงมีเกิดได้ในทุกตารางนิ้ว

กลิ่นหอมของน้ำมันตะเกียง แสบอ่อน เอื่อยคล้อยลอยมา คู่เคียงข้างด้วยกลิ่นไหม้ของหัวไม้ขีดที่ก้านชื้นเพราะเคลือบฉาบคราบไอเหงื่อ พยายามอยู่หลายทีจนจุดติดจึงโยนทิ้งไป คมเล็บเย็นเยียบของความโดดเดี่ยวอันสุดแสนเหน็บหนาวของเมืองกรีดสะกิดกระดูกเบาๆให้ร้าวเจ็บ เสื้อแก่เก่าขาดไม่อาจปกป้องร่างเหี่ยว แกรีบแทรกซุกงอกาย ผลุบหายเข้าใต้ถุงกระสอบพลาสติก แง้มเพียงช่องบางอันกว้างพอให้สายตาและแสงส้มได้สัมผัสกัน

แสงสลัวสุดสว่างนี้เป็นความสุขหนึ่งของแก…

มันไม่เพียงสาดส่องขึ้นเบื้องหน้า หากแต่เสียดลึกลงไปในดวงใจที่ปวดร้าว ดวงใจอันร่วงร่อนกร่อนชรา เต้นระโรยริกละล่ำลักด้วยโหยถึงซึ่งความมืดมิดแห่งอดีตชวนคะนึง ไม่ใช่เพียงภาพดวงไฟในครอบแก้วที่พัดไหวตามแรงรุกลอดไล่ของสายลมเมือง หากแต่มันคือภาพจางรางเลือนของบ้านมืดในคืนหนาวแสนอบอุ่น ซึ่งครั้งหนึ่งเคยกรำกรุ่นด้วยกลิ่นไอของความเป็นครอบครัว

บ้านช่องที่นี่ใหญ่โตโอฬาร สวยงามสว่างไสว มากมายรายเรียง แต่นอกจากใต้ทางด่วนมืดมิดนี้ ไม่มีพื้นที่แห่งความเอื้อเฟื้อใดมีความยินดีมากพอจะให้แกได้อาศัยสวมร่วมชายคา

เมืองหลวง เมืองอันถือสมัญญาว่ามหาแดนแห่งทวยเทพ มันช่างเป็นเมืองที่สว่างไสวเกินไปสำหรับดวงตาและดวงใจของคนที่มาจากพื้นที่ที่ไม่รู้จักการมีไฟฟ้าใช้อย่างแก อีกทั้งในบางห้วงลึกของมุมใจ แสงสว่างไสวนั้นกลับกรีดตาจนล้าใจราวแสงเพลิงไฟจากในนรก แต่แม้กระนั้น แข็งผิวคอนกรีตแห่งบาทวิถีหยาบกร้านและผืนถนนลาดยางอันแสนกระด้างร้อนในตอนกลางวัน ย้อนแย้งด้วยความเย็นเยียบเกินทนไหวในยามค่ำคืน แม้ร้อนเยียบย้อนแย้งถึงเพียงนั้น มันก็ยังชุ่มชื้นกว่าผืนดินกันดารสะท้านตีนที่บ้านเกิด ด้วยมันยังมีท่อนแท่นฝุ่นเขรอะของน้ำประปาดื่มได้ตั้งวางอยู่ข้างถนน มันอาจห่างไกลจากความสนใจของคนที่มีน้ำกรองดื่มใช้อยู่ในบ้าน หรือมีปัญญาหาซื้อน้ำขวดที่วางขายมาใช้ดื่ม แต่สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักกับน้ำตามท่อหรือน้ำซื้ออย่างแก สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยชโลมลำคอที่แห้งผาก แต่มันยังช่วยถมเต็มปิดเงียบซึ่งเสียงร้องของช่องท้องที่ว่างเปล่ามาได้ในหลายมื้อ

ในยามที่โหยหิวจนถึงที่สุด และเปล่าเปลี่ยวเงินตราจนถึงขีดสุด แม้แต่น้ำขังในช่องแตกของพื้นบาทวิถีแกก็ต้องวักกิน

ไอ…

ขลุกโขลกรุนแรง แหบแห้งแสบคอ ปลาบแปลบมือกุมอกเจ็บ ยากจะรู้ได้ว่าเป็นเพราะพิษยาเส้นที่ซื้อหาในแดนเมือง หรือเป็นเพราะลมเวลาที่พัดพาความชราสู่สังขาร มันกรีดริ้วรอยย่นจนยอบยับไปทั้งร่าง สิ่งที่คั่นกลางระหว่างมือของแกและหัวใจเจ็บเสียดคือแบงก์ยี่สิบสามสี่ใบ เบียดเสียดกันไปในสภาพยับย่น ปนสามสี่เศษเหรียญบาทเย็นเยียบ ในเมืองที่มีขยะทิ้งมากมาย แต่กลับหาขยะขายได้ยากเย็น กับทั้งยังหาได้น้อยลงทุกวัน ถังขยะใหญ่ที่เคยยืนกายรายเรียงอยู่ริมถนนหายไปตั้งแต่หลายปีก่อน เหลือเพียงถังเล็กถังน้อยลอยกายติดป้ายรถเมล์ คับแคบรูทิ้งเกินแกจะแคะคุ้ยควานมือเข้าสอดล้วง ปกปิดแน่นหนาเกินกว่ามือเปล่าเก่าชราของแกจะแกะเปิด เก็บได้ก็เพียงแต่ขวดเปล่าที่ตั้งไว้ที่ภายนอก เพียงส่วนเกินของปริมาณบรรจุ บางคนอาจะเรียกมันว่าความมักง่าย แต่อย่างไรก็กลายเป็นเงิน

วัฒนธรรมการแก่งแย่งแข่งขันตกหล่นมาสู่แก ทีแรกผ่านทางระบบระเบียบในการวางตั้ง อันเป็นไปเพื่อความงดงามน่ามองของท้องถนนและริมบาทวิถี บัดนี้ผ่านความหวาดกลัวต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เพื่อความปลอดภัยจากประสงค์ประทุษร้ายของมือระเบิด สำหรับอาชีพแก คุ้ยแล้วเจอระเบิดก็ตาย กลัวระเบิดจนไม่กล้าคุ้ยก็ต้องอดตาย หรือความจริงคือ ตอนนี้แกควรยินดีกับการหดหายไปของถังขยะ นั่นคือแกควรยินดีที่จะอดตาย เพื่อดำรงไว้ซึ่งความปลอดภัยของเมือง เพราะแกเองก็พอจะมีความคุ้นชินอยู่บ้าง กับแนวความคิดเรื่องการเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ บางครั้งแกอยากจะโวยวาย แต่ก็นึกได้ถึงความคำของเพื่อนร่วมอาชีพ ว่าเพียงเขาไม่เอาแกไปเก็บด้วยเพื่อคงไว้ซึ่งความน่ามองของแดนเมือง เพียงเท่านั้นแกก็น่าจะขอบใจแล้ว

เหล่านั้นล้วนทำให้ถังขยะตั้งพื้นแบบเก่ามีน้อยลง และอยู่กันอย่างเป็นที่ทางมากขึ้น ใครไปถึงถังก่อนก็มีสิทธิ์คุ้ยเขี่ยก่อน ของเหลือจากความต้องการของเมืองคือความต้องการอย่างยิ่งยวดของแกและเพื่อนร่วมอาชีพ แต่ของเหลือจากความต้องการของเพื่อนร่วมอาชีพ ไม่อาจเป็นความต้องการของแกได้ และเพื่อนร่วมอาชีพก็มิจำเป็นจะต้องใช่เพื่อนร่วมชีวิต

มีอยู่บ่อยครั้ง ที่แกต้องมองภาพเพื่อนร่วมอาชีพเดินจากไป และบนหลังแกร่งแห่งหนุ่มกว่านั้น แบกหอบกระสอบถุงที่บรรจุเต็มซึ่งขวดแก้ว กระป๋องเปล่า ขวดพลาสติก โดยที่แกได้แต่ยืนนิ่ง สัมผัสกับกระสอบเปล่าในมือเหี่ยว มันกระเพื่อมพลิ้วตามแรงลมจากรถซาเล้งที่วิ่งผ่าน ขับบิดโดยเพื่อนร่วมอาชีพที่ไม่รู้จักกัน แกยืนตีนเปล่า ร้าวร้อนเยียบชากับสัมผัสของใจเมืองที่แผ่ผ่านพื้นกระด้าง

เมื่อแรกที่แกหันมายึดอาชีพเก็บขยะขาย แกสัมผัสได้ถึงความแตกต่างบางประการ ระหว่างที่บ้าน และในเมืองใหญ่นี่ ภายใต้อาชีพสุจริตที่แกยึดเหมือนกัน ที่นี่มีที่ทางมากมายให้ทำกิน แตกต่างยิ่งนักกับบ้านเดิมที่ต้องหาเช่าที่ทางทำกินเอา จะเหลือใช้กินได้ก็หลังจ่ายค่าเช่าที่ ซึ่งบางทีก็ไม่มีหลงเหลือ ผิดกับที่นี่ แกเดินไปทำกินที่ไหนก็ได้ที่มีที่(ถังขยะ) และตราบเท่าที่มีแรงเดิน

เหมือนกันเพียงสิ่งเดียว…คือเงินที่หาได้ไม่ใคร่จะพอกิน
และแย่กว่าบ้างที่บางครั้งถูกไล่เยี่ยงหมูหมา…

นอกจากอาชีพคนเก็บขยะแล้ว แกไม่รู้หรอกว่า ตัวเองยังเป็นอะไรอีกหลายสิ่งในสังคมเมืองนี้ ไม่รู้หรอกว่าสังคมนี้นิยามความแกว่าอย่างไร แกคือตัวปัญหา น่าระคายเคืองตา แค่มองเห็นก็เหม็นในจมูก และยังเป็นแรงงานราคาถูกให้เถ้าแก่ที่รับซื้อขยะได้ใช้ด้วย หรือบางที แกก็เป็นเครื่องมือให้คนบางคนใช้ทำบุญ พวกเขาโยนเศษเงินให้เพราะเข้าใจว่าแกเป็นขอทาน

แต่แกก็ต้องเอา…

แกกำเศษเงินในกระเป๋าแน่น ความตายอาจจะเข้าคลานคืบใกล้มาเรื่อยๆ แต่จนบัดนี้แล้ว แม้เพียงบาทเดียวเขียวใดก็ยังไม่เคยได้ส่งกลับไปถึงพ่อแม่ หรือแม้ทุกวันนี้จะคิดทำบุญใส่บาตรไปให้ แต่ความโหยหิวแหบแห้งแห่งท้องกิ่วก็ทำให้แกไม่อาจหักใจทำอะไรแบบนั้นได้ ถ้าทำลงไป สิ่งนั้นจะเทียบได้กับบุญหรือบาป ทำในสิ่งที่เรียกว่าบุญด้วยการอุทิศกุศลสู่พ่อแม่ผู้ล่วงลับ หรือเป็นบาปด้วยได้ละทิ้งโอกาสในการมีชีวิตอยู่ และนำพาตัวเองให้เข้าสู่สภาวะอดตาย

แวบความคิดหนึ่งวาบวูบขึ้นมา สัมผัสมันได้แล้วก็ให้ต้องสมเพชตัวเอง สมเพชที่แม้ล่วงชรามาจนป่านนี้ยังมิวายได้คิดปล้นคิดฆ่า แกไม่ควรพ่ายแพ้ต่อแรงกดเหยียดของความยากลำบาก –แรงกดเหยียดของเมือง– แล้วพาตัวเองไปในทิศทางนั้น ลำพังเรี่ยวแรงจะยันเดินยังลำบาก แม้ทำจริงจนลุแล้วก็คงไม่เหลือเรี่ยวแรงให้แบกบาป ที่ปะปนต่อไปในทุกลมหายใจที่เหลือริน

แกมักสยบมันด้วยการคิดถึงพ่อ…

พ่อสอนแกอยู่เสมอในเรื่องของความพอเพียง พ่อสอนให้แกพอใจในสิ่งที่ตนมี กินใช้เท่าที่ตนหาได้หามี ทั้งที่จริงๆแล้วพ่อก็ยังไม่มีในสิ่งที่หลายคนมี และยังหาไม่ได้หาไม่มีในสิ่งที่หลายคนหาได้หามี ยิ่งยามนี้แกอยู่ในเมือง แกได้เห็นแล้วว่ายิ่งมีอีกหลากหลายสิ่งอย่างที่พ่อควรมี แต่พ่อก็ไม่ได้มี ไม่แม้แต่จะเคยได้มี หรือได้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้นั้นมีอยู่

แกไม่รู้หรอกว่าคำสอนนั้นเป็นไปเพียงตามธรรมครรลอง หรือว่าแท้จริงแล้ว พ่อก็คิดอย่างนั้นจริงๆ และตอนนี้แล้วแกก็ยิ่งไม่แน่ใจใหญ่ ว่าถ้าหากพ่อได้เห็น ว่าสิ่งใดที่คนที่นี่เรียกว่ามี สิ่งใดที่คนที่นี่เรียกว่าหาได้หามี เช่นนั้นแล้วพ่อจะยังสอนให้แกพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่อีกหรือไม่

เทียบกับที่ “คน” ที่นี่มี…พวกแกเป็น “คน” ที่ไม่มีอะไรเลย

มันอยู่นอกเหนือขอบเขตความเข้าใจของแก เกินความสามารถไปไกล หากจะต้องทำความเข้าใจว่าเหตุใดหลายๆคนที่มีในระดับที่เรียกว่าถ้าแกมีในระดับนั้นบ้าง แกก็น่าจะได้ลองพอลองเพียงอย่างที่พ่ออยากให้แกเป็น แต่คนพวกนั้นก็ยังไม่พอ พวกเขายังคงดิ้นรนที่จะมีมากขึ้นไปอีก พวกเขาน่าจะมีจนเหลือเพียงพอจะแบ่งปันให้แก –มีเหลือก็แบ่งก็ปัน– นั่นคือสิ่งที่พ่อสอน หรือพ่อไม่ได้สอนคนที่นี่ หรือพ่อของคนที่นี่ไม่ได้สอน หรือถ้าหากมีมากขึ้นแล้วจะสามารถพอได้มากขึ้น หรือยิ่งพอมากเท่าไรก็ยิ่งดีมากเท่านั้น และเพื่อให้พอได้มากจึงต้องมีให้มาก พวกเขาจึงพยายามกันอย่างยิ่งที่จะมีให้มาก เพื่อจะได้พอให้มากเช่นกัน

แกไม่เข้าใจ ด้วยเงินไม่ถึงร้อยที่แกมี เงินไม่ถึงร้อยที่ต้องกินใช้ไปอีกสองสามวัน แค่นั้นเรียกว่าแกมีหรือยัง แค่นั้นแล้วแกควรจะพอหรือยัง แกจะเอาสิ่งใดวัดความมี ในเมื่อสิ่งที่แกมีอยู่คือความไม่มี หรือความไม่มีก็คือความมีอย่างหนึ่ง มีความไม่มี เช่นนั้นแล้วแกควรจะพึงพอใจอยู่กับความไม่มีของแกอย่างนั้นหรือ อยู่กับความไม่มี พึงใจกับเสียงร้องของท้องกิ่วต่อไป เพื่อดำรงไว้ซึ่งศักดิ์สิทธิ์ของคำความแห่งความคำเรื่องพอเพียงเยี่ยงพ่อสอนอย่างนั้นหรือ

พ่อสอนให้รู้จักแบ่งปัน …ความอยู่รอด… รู้จักแลกเปลี่ยนกันซึ่งสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างมี …ความอยู่รอด… แล้วกับที่แห่งนี้แกจะทำอย่างไร ในเมื่อพวกเขามีในสิ่งที่แกต้องการ …ความอยู่รอด… และแกอยากแลกเปลี่ยนด้วย …ความอยู่รอด… แต่แกกลับไม่มีในสิ่งที่พวกเขาต้องการ …เงิน… สิ่งที่พวกเขาต้องการแกก็ต้องการ …เงิน… แต่แกมีไม่มากพอเท่าที่พวกเขาต้องการ …เงิน… พวกเขาจึงไม่ต้องการจะแลกเปลี่ยนกับแก …ความอยู่รอด…

เมื่อแรกเข้ามา แกแปลกใจเป็นหนักหนา อาหารการกินของคนที่นี่ช่างมากมายหลายหลาก แต่ชีวิตกรรมกรที่โยกย้ายไปตามการผุดของไซท์งานไม่ได้สร้างทางเลือกมากมายให้แกนัก แม้อาหารอันหลากหลายนั้นจะมีอยู่ในทุกที่ที่แกไป แต่ชีวิตการกินของแกนั้นวนเวียนอยู่ได้แต่ในอาหารของไซท์งาน บ่อยครั้งที่ไซท์งานนั้นไปผุดที่กลางเมือง ทางเลือกการกินของแกยิ่งถูกบีบให้แคบลงไปอีก เพียงข้าวแกงข้างถนนของย่านนั้นก็ราคาสูงจนไม่อาจซื้อกินได้ ดีแต่เพื่อนคนงานด้วยกันนั้นต่างก็พลัดถิ่นย้ายฐานมาจากแถบภาคเดียวกัน ในไซท์งานจึงมีครกใบหนึ่งปลาร้าโหลหนึ่งกระติบใบหนึ่ง เหล่านั้นเองที่บันดาลอาหารถิ่นอันกลิ่นคุ้นและรสเคย ทั้งประหยัดเงินเพิ่มกำลังงานและได้คิดถึงที่บ้านไปในเวลาเดียวกัน

แกกินแต่อาหารซ้ำซากจนลืมไปแล้วว่าความอร่อยนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร แกอาจปลอบใจตัวเองว่าแกเพียงกินเพื่ออยู่ แต่เห็นอาหารที่คนที่นี่เขากินกันแล้ว เป็นประจำที่แกก็อดใจคิดไม่ได้ว่ามันน่าจะอร่อยเพียงใด ครั้นได้ลองกินบ้างก็เพียงเศษเหลือทิ้งแล้ว –คนที่นี่กินเหลือกันด้วย– เหลือแบบที่เรียกว่ากินทิ้งกินขว้าง เหลือจนแกสงสัยจนบางครั้งแกมด่าในใจว่าพ่อแม่คงไม่สั่งสอน แกไม่เคยกินเหลือ –ทั้งด้วยคำสอนของพ่อแม่และด้วยความจำเป็น– แต่วันหนึ่งแล้วการกินเหลือนั้นก็กลับเป็นการช่วยเหลือกันระหว่างชนชั้นอย่างที่ไม่มีใครตั้งใจ ในวันที่ไซท์งานล่มสลายและผู้รับเหมาหนีหายโดยไม่จ่ายค่าแรง พวกแกต่างต้องกระจัดกระจายไปตามส่วนต่างๆของเมือง ในยามที่ท้องหิวจนเกินจะทานทน แกก็ต้องทนทานอาหารเหลือพวกนั้นเพื่อทำให้ตัวรอดมาได้ในบางคราว บางครั้งมันก็มากมายจนทำให้แกอิ่มไปได้อีกหลายมื้อ แต่บ้างก็กลับบูดกลับเน่าจนเกินจะทนกิน ครั้นคิดจะซื้อแบบที่ไม่เรียกว่าเหลือมากินบ้าง แกก็ไม่มีเงินมากพอ พวกเขาจึงไม่ยินดีจะแลกเปลี่ยนกับแก

และมันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน บางครั้งแกเพียงต้องการไมตรี พวกเขาน่าจะมี เพราะคนไม่มีอย่างแกก็ยังมี แต่แกไม่เข้าใจว่าตัวเองขาดสิ่งพึงมีอันใดไป พวกเขาจึงไม่ยินดีจะแลกไมตรีกับแก แม้น้อยนิดเพียงสายตาอาทรก็ไม่มี ซ้ำพวกเขายังมอบให้แกซึ่งสายตารังเกียจ สายตาหวาดระแวง มองแกราวเป็นถุงขยะกลิ่นหืนเหินที่เดินได้ ซึ่งแกก็ยินดีจะแลกเปลี่ยนกับสายตานั้นด้วยการเดินเลี่ยงหลีกหนี รีบหนีก่อนที่พวกเขาจะทุบตีแกด้วยคำด่าไล่ และก่อนที่พวกเขาจะทุบตีแกด้วยมือไม้กันจริงๆ

หลายครั้งที่แกโกรธ…

บางทีนั่นอาจเป็นบ่อเกิดของความคิดแค้นที่เรียกว่าอิจฉา หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นริษยา แกไม่ควรจะคิดถึงมัน ถ้าพอเพียงที่พ่อว่าหมายถึงใช้เท่าที่มี เท่าที่แกมีนี้ก็น่าจะเพียงพอ เพราะถึงอิ่มบ้างอดบ้าง แต่แกก็ยังไม่ตายมาตราบจนทุกวันนี้มิใช่หรือ

แล้ว…
ทำไม…พวกเขาไม่ลองมีและพอในระดับที่แกกำลังมีและพอบ้าง

พวกเขามีเยอะ เยอะจนแกอดสงสัยไม่ได้ว่าไปหาได้หามีมาจากที่ไหน แกจะได้ไปหาบ้าง มันแตกต่างกันมากมายจนบางครั้งแกอดสงสัยไม่ได้ ว่าในความเป็นคนเหมือนกันมันมีอะไรแตกต่างกัน แกจึงไม่มีจนทำให้บางทีรู้สึกว่าหรือตัวแกนี้ไม่ใช่คน สิ่งใดที่แตกต่างไป สิ่งใดที่มันไปไม่ถึงถิ่นเกิดของแก แกจึงไม่อาจได้มีอย่างที่คนที่นี่มี

แล้วมันก็กลับมาอีก ความคิดที่ว่าแกยังไม่มี ที่แกมีคือความไม่มี ถ้ายังไม่มีเพื่อได้พอ แล้วแกจะไปเอาความพอที่ไหนมาได้มี

แล้วถ้าแกสามารถพอเพียงกับความไม่มีนี้ แต่ความพอเพียงนั้นมันจะอยู่กับแกไปได้นานเพียงใด ในเมื่อแกเห็นตำตาอยู่ทุกวัน ว่ามันมีความมีอีกรูปแบบหนึ่ง มีความมีอีกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแกรู้สึกว่าตัวเองยังไม่เคยได้มี และมันเย้ายวนชวนให้อยากมี

หรือนั่นจะเป็นบททดสอบหนึ่ง ว่าด้วยการต่อสู้กับกิเลสของตัวเอง ต่อสู้กับความเย้ายวนต่างๆ ซึ่งแกผู้คิดตั้งตนอยู่บนเส้นทางแห่งความพอดี จะต้องไม่หลงใหลจนหลุดไหลไปในความเย้ายวนนั้น

แต่แกก็แค่หิว…และอยากอิ่ม
แกไม่มีสิทธิ์จะอิ่มหรือ…

หรือความพอเพียง…หมายถึงการก้มหน้ายอมรับชะตากรรมแห่งความไม่มีของตัวเอง
ความพอเพียงเช่นนั้นเพียงพอแล้วหรือ…

………………………………….

ล่องลอย…

ในฝันสีส้มจางนั้น แกล่องลอย ร่วงโรยโบยบินกลับไปยังบ้านรักที่แกเกิด บางที แกควรจะกลับมาที่นี่ เพราะเมืองอาจเป็นที่ต้องห้ามสำหรับแก

ที่ลานโล่งหน้าบ้านนั่น มันคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย ทุกคนที่แกคุ้นตาและครั้งหนึ่งได้คุ้นเคยนั่งอยู่บนพื้น เหม่อคล้อยลอยตาไปหาพ่อที่ยืนเทศนาเรื่องความพอเพียง

ผู้คนแหวกเป็นทาง แกเดินตรงเข้าไปอย่างเชื่องช้า ก้มกราบแทบเท้าพ่ออันเป็นที่รักที่ยังคงเทศนาเรื่องความพอเพียง ดวงตาของพ่อมองไกลแสนไกลทอดไปโดยไม่ปรายลงมาถึงที่ที่แกอยู่ น้ำตาแห่งความคิดถึง น้ำตาแห่งความอัดอั้น น้ำตาแห่งความพอเพียงหลั่งไหล รินรดท่วมไปถึงปลายรองเท้าคู่เก่าของพ่อ ที่เริ่มขาดด้วยกรำงานมาอย่างหนักหน่วง

และโดยที่แกไม่มีโอกาสได้ร่วงรู้ คืนนั้น ร่างพอเพียงของแกไร้วิญญาณไปด้วยใบหน้าที่ยากจะบอกได้ว่า แกกำลังยิ้มอย่างเปี่ยมสุข หรือร้องไห้ด้วยความทุกข์ทน

Posted in เรื่องสั้น | 9 Comments »

หมีมองคน: มุสาวาทชาตินิยม

Posted by ปราชญ์ วิปลาส บน 24 มกราคม, 2007

ปล. (ปฐมลิขิต): นอกจากโป้ปดมดเท็จแล้ว มุสายังรวมความถึงการส่อเสียด ติฉินนินทาอีกด้วย

ผมชอบไปนั่งอยู่ใต้คณะเรียนของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง…

คนที่ผมรู้จักมากมายวนเวียนชีวิตอยู่ที่นั่น คณะเศรษฐศาสตร์อันดับหนึ่งของประเทศ อันดับสี่ของเอเชีย แต่เหล่านั้นก็แค่บอกใบ้ให้รู้ว่าผมไปนั่งอยู่ที่ไหน ไม่ใช่สาระสำคัญอะไรของเรื่องราวที่กำลังจะพูด

ผมชอบเวลาเพลงชาติดัง…

เป็นเรื่องสนุกไม่หยอก เพราะในขณะที่เพลงชาติดังขึ้น และผมนั่งลอยหน้าอย่างไม่ยี่หระกับธรรมเนียมปฏิบัติของสังคม (ที่ถูกผู้อื่นกำหนดไว้) ผมก็สามารถครุ่นคิดเอาเองไปเรื่อยเปื่อย ถึงสิ่งที่แฝงฝังไว้ในเนื้อเพลงดังนี้คือ ความพยายามบ่งบอกถึงลักษณะความเป็น “ชาติไทย” (ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน) บ่งบอกอุปนิสัยของชนในชาติ ที่ทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ (อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี) เปรียบเทียบลักษณะนิสัยที่สามารถย้อนแย้งได้ตามสภาวการณ์ (ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด) บ่งบอกถึงสิ่งอันเป็นที่รัก หวงแหน และพึงรักษาไว้ให้ได้ (เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่) ต่อด้วยความในวรรครองสุดท้ายของเพลง (สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี) ซึ่งฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความหมายในสองลักษณะ หนึ่งคือสิ่งที่เน้นย้ำให้เชื่อกันมาตลอดว่าบรรพบุรุษทำ และสอง ภายใต้ใจความเดียวกันนั้น แสดงถึงจุดมุ่งหมายที่อยากให้คนรุ่นหลังได้ปฏิบัติในแบบเดียวกัน เพื่อจุดประสงค์สุดท้ายที่วรรคสุดท้ายของเพลง (เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัยชโย)

พร้อมๆกันนั้น ผมก็ได้ดูท่าที ปฏิกิริยาที่คนที่นี่มีต่อเพลงชาติ พวกเขาจะลุกขึ้นช้าๆ ราวกับไม่อยากทำบาปด้วยการพรากตูดจากเก้าอี้ ยืนทอดสายตาเหม่อลอยไปไกล (มีบ้างที่มาตกอยู่ที่ผม) ยืนพักขา ยืนเกาะโต๊ะ มือแกะนั่นเท้าเกานี่ รอคอยเวลาให้เพลงจบ บ้างถ้าคุยโทรศัพท์มือถือ คุยกับเพื่อน หรืออ่านหนังสือติดพันอยู่ พวกเขาก็จะปฏิบัติมันต่อไป และอย่างราบรื่นราวกับเพลงชาติไม่สามารถสกัดกั้นท่วงทำนองชีวิตของพวกเขาได้เลย

จนเพลงจบไปแล้ว และนั่งคิดเดาเอาเองเสร็จสรรพไปแล้ว ผมก็ยังจมตูดอยู่กับผิวเก้าอี้ ลอยหน้าท้าทายสายตาประปรายของประชาชนที่มองมา พลางครุ่นคิดถึงเสียงของคนไม่รู้จัก ที่ตะโกนใส่คนที่ผมรู้จักที่นั่งลอยหน้าอยู่ใกล้ๆกัน ตะโกนในช่วงที่เพลงบอกว่าล้วนหมายรักสามัคคีว่า “มึงเป็นพม่าเรอะ?”

นึกแล้วก็ให้แปลกใจ ว่าเชื้อชาติสัญชาติมันเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ ภายใต้มาตรฐานว่าได้กระทำในธรรมเนียมปฏิบัติ ที่รัฐในสมัยหนึ่งกำหนดไว้ให้หรือไม่เท่านั้นเองหรือ

ผมก็ตลกไปเรื่อย…

มันจะเป็นเช่นนั้นไปได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีกฎหมายข้อใดบัญญัติไว้ ว่าในกรณีที่ผมไม่ยืนตรงเคารพเพลงชาติไทยแล้ว ผมจะกลายสัญชาติเป็นพม่าได้ทันที และผมก็ยังสงสัยต่อไป ว่าทำไมต้องพม่า เป็นอเมริกาไม่ได้หรืออย่างไร หรือเป็นฟินแลนด์ เป็นเยอรมัน เป็นเกาหลี เป็นญี่ปุ่น เป็นอังกฤษไม่ได้หรือ เผื่อคนที่ตะโกนจะได้สำนึก ลึกอีกหน่อยก็สำเหนียก ว่าผมนี่เอง ชนชาติที่ผลิตรูปแบบรสนิยมการแต่งกาย รสนิยมการกินอยู่ รสนิยมทางดนตรี โทรศัพท์มือถือ เกมคอนโซล เกมออนไลน์ ซีรี่ส์ยอดนิยม ที่เรียนต่อให้ชุบตัว เบียร์ให้ดื่ม หรือแม้กระทั่งหนังโป๊ให้เขาเสพย์

แล้ว…ทำไมต้องพม่า

คำตอบง่ายๆ เพราะภายใต้เนื้อหาประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เราร่ำเรียนกันมา พม่าเป็นศัตรูเดียวที่มีความชัดเจนที่สุด ว่าเป็นศัตรูของคนทั้งชาติ พม่าจึงเป็น “ความเป็นอื่น” หนึ่งเดียว ที่น่าจะเกาะติดอยู่ในความรู้สึกของใครหลายๆคน หรืออาจจะทุกคนโดยที่ไม่ทันมีใครได้รู้ตัว ดังนั้น ภายใต้ฐานปฏิกิริยา*ที่ว่า “การเคารพธงชาติแสดงถึงความรักชาติและความเป็นพวกเดียวกัน” พอเห็นใครไม่ยืนตรง ก็จะบอกว่าเป็นพม่า หรือ “คนไทยหรือเปล่า?” ไปเสียหมด น้อยนักจะกล่าวหาว่าเป็นลาว เพราะส่วนใหญ่มักใช้ลาวแสดงถึงอุปลักษณ์อย่างอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องรักชาติ แต่เป็นเรื่องความเหนือกว่าต่ำกว่า และภายใต้ประวัติศาสตร์ในชั้นเรียน พม่านั้นเป็น “ความเป็นอื่น” หนึ่งเดียวที่มีภาพลักษณ์ของการคุกคามเอกราชของไทยมากที่สุด (มากกว่าภัยล่าอาณานิคม เพราะอย่างหลังนั้นเราป้องกันได้ ด้วยวิธี “เสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่” อันโด่งดังในชั้นเรียนเช่นกัน) จึงไม่น่าแปลกใจ หากการเคารพธงชาติ ภายใต้เพลงชาติอันมีความหมายแฝงฝังดังกล่าวไปแล้ว จะเป็นการแสดงถึงความรักชาติ อันถูกกำหนดให้แสดงออกด้วยการยืนตรง ใครที่ไม่ยืนตรง ย่อมหมายความว่าไม่รักชาติ และกลายเป็น “ไม่ใช่ไทย” หรือ “อ้ายพม่าข้าศึก” อย่างที่เคยเรียกกันในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไปได้โดยง่าย

[*ผมเรียกมันว่าปฏิกิริยา เพราะได้คิดตรองดูแล้วว่าพฤติกรรมดังกล่าวนั้น มีลักษณะของความเป็น “Reflex” หรือปฏิกิริยาสะท้อน มากกว่าที่จะเป็น “ความคิด” กล่าวคือ มันดีดเด้งออกมาจากไขสันหลัง ไม่ได้ผ่านการไตร่ตรองโดยสมอง คล้ายๆพอพาฟลอฟ[1]สั่นกระดิ่งแล้วหมาน้ำลายไหล เพราะจำได้ว่าจะได้กินเนื้อ]

ผมจึงสนใจต่อไปว่า แบบใดเล่าจึงเรียกว่าการเคารพรัก ระหว่างผมที่นั่งจมตูดลอยหน้า วิเคราะห์ความหมายที่แฝงฝังในเนื้อเพลง กับพวกที่ยืนขึ้นในท่าพักขาข้างหนึ่ง สนทนากันอย่างต่อเนื่องจากตอนนั่ง อ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง คุยโทรศัพท์อย่างต่อเนื่องจนกลับมานั่งอีกครั้ง ผมเกรงว่าในกรณีนี้ ทั้งความเป็นผม และความเป็นอื่นอันผมหมายถึงพวกเขาบ้างนั้น จะไม่มีลักษณาการใดเลยที่เรียกได้ว่าเป็นการเคารพ เพราะล้วนไม่มีลักษณาการใดที่แสดงถึงการ “ยืนตรง” ตามแบบที่เข้าใจกันว่าคือเหยียดกายตรง ขาเหยียดชิด สองแขนแนบชิดลำตัว

แต่หากถามว่ามีใครผิดไหม ผมว่าไม่ เพราะภายใต้ยุคสมัยที่เราใช้ชีวิตอยู่นี้ ผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีความห่างไกลจากความรู้สึกร่วมที่แฝงฝังอยู่ในเพลงชาติพอๆกัน เนื่องด้วยไม่ได้มีเหตุการณ์หนึ่งใด อย่างเช่นตกเป็นเป้าของการล่าอาณานิคม การคุกคามทางทหารจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือสิ่งที่เคยถูกย้ำหนักหนาว่าเป็นภัยอย่าง “คอมมิวนิสต์” ซึ่งสองอย่างแรกนั้น เราคุ้นเคยจากในแบบเรียน ว่าเป็นตัวกระตุ้นเร้าที่รุนแรงเพียงพอจะทำให้เราหวั่นไหว หวาดกลัวต่อการสูญเสียเอกราช จนต้องคว้าจับเอาสิ่งใดก็ตามอันเป็นภาพลักษณ์ของความเป็นชาติมาถือไว้ ดังนั้น หากมิได้รู้สึก “เข้าถึง” หรือที่วัยรุ่นเรียกว่า “อิน” ไปกับเพลงจริงๆ ผมว่า หากไม่มีใครยืนตรงอย่างแข็งขัน ก็ย่อมไม่น่าใช่เรื่องผิดบาปแต่ประการใด ถ้าจะผิด ก็คงผิดในเชิงสังคมความเชื่อมากกว่า

และในขณะเดียวกัน ผมก็อดไม่ได้ที่จะสงสัยต่อไป ว่าสิ่งที่เรียกกันว่า “ชาติ” อันนำมาซึ่งลัทธิ “ชาตินิยม” นั้น แท้จริงแล้วมันคือสิ่งใดกัน

ตามปรกติ ทันที่ผมสงสัยในคำใดใด ผมจะเปิดหาความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์ฯ** ด้วยใช้ใจ (ที่ถูกปลูกฝัง) ยอมรับว่ามันเป็นคำไทย โดยมิต้องสนใจว่า แท้จริงแล้ว เป็นคำที่ถูกนำเข้ามาจากภาษาบาลี สันสกฤต หรือลิขิตอารยธรรมอื่นใด เพราะพอจะหรี่ตาอนุโลมได้ว่า นั่นเป็น “ความฉลาดในการประสานประโยชน์” แบบหนึ่งตามนัยยะของ “ความเป็นไทย” ตามแบบสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวคือรู้จักรับเอาสิ่งดีใดจากชนชาติต่างๆ มาผสมผสานกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย จึงไม่น่าแปลกใจ หากจะพบในพจนานุกรมว่า หลายๆคำที่ใช้กันจนชินนั้น ล้วนเป็นคำบาลีสันสกฤต หรือที่อ้างกันว่าเป็นคำไทยนั้น ก็เกิดมาจากการที่ไทยนำเอาคำบาลีสันสกฤตมาผสมกันอีกที

[**ที่บ้านมี 2 เล่ม คือ พ.ศ. 2493 และ 2525 แต่ยังไม่มีฉบับล่าสุด คือฉบับ พ.ศ. 2542 แต่เมื่อค้นดูแล้วก็มิได้พบความแตกต่างอื่นใด ในคำที่จะใช้อ้างในที่นี้]

ในความเหมือนกันของคำว่าชาติ ผมพบว่า มีความแตกต่างทางความหมาย ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์ฯปีพ.ศ. 2493 และ พ.ศ. 2525 ดังนี้

พ.ศ. 2493 หน้า 335

ชาติ น. การเกิด, การเป็นขึ้นมา, การเอากำเนิดใหม่: พวก, ตระกูล, ครัว, เหล่า, กำเนิด, ชนิด, จำพวก, ชั้น, หมู่, ประเทศ. (ป.; ส.)

พ.ศ. 2525 หน้า 267 – 268

ชาติ๑,ชาติ- ๑ [ชาด, ชาติ-, ชาดติ-] น. การเกิด เช่น ชาตินี้ ชาติหน้า; กำเนิด เช่น มีชาติมีสกุล; เหล่ากอ, เทือกเถา, เหล่าพันธุ์, เช่น ชาติเสือ, ชาติขี้ข้า; ชนิด, จำนวน, พวก, ชั้น, หมู่. (ป., ส.)

ชาติ๒, ชาติ- ๒ [ชาด, ชาติ-, ชาดติ-] น. ประเทศ; ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ, กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม อย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน, ประชาชาติก็ว่า.

ชาติ๓ [ชาด] คำประกอบท้ายคำศัพท์ เมื่อประกอบเข้าแล้วมีความหมายไม่ต่างไปจากคำศัพท์เดิม เช่น พฤกษชาติ คชาชาติ สุคนธชาติ.

ชาติ๔, ชาติ- ๓ [ชาด, ชาติ-, ชาดติ-] น. รส เช่น ไม่เป็นรสไม่เป็นชาติ

(ทั้งนี้ทั้งนั้น นำมาให้ดูแต่เฉพาะความหมายของคำว่าชาติ ส่วนคำประสมอื่นที่เกิดจากการประสมกับคำว่าชาตินั้น ไม่นำมาให้ดู เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ต้องการค้นหา)

หากดูตามข้อมูลดังกล่าว ก็จะพบว่า ชาติในสามความหมายหลังนั้น (ชาติ๒, ชาติ๓, ชาติ๔) น่าจะกลายเป็น “คำไทย” โดยอาศัยความหมายที่ตั้งขึ้นโดยผู้ที่เรียกตัวเองว่า “คนไทย” ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่ชาติในสามความหมายหลังนั้น ไม่มีการวงเล็บต่อท้ายแสดงที่มาของคำ ว่ามาจากภาษาบาลีสันสกฤต (ป., ส.) และ “คนไทย” ที่ว่า ก็น่าจะเป็นคนไทยภายใต้ความหมายของ “ชาติ๑” และ “ชาติ๒” ที่ได้รับการเติมต่อท้ายด้วยคำว่า “ไทย” นั่นเอง

อนึ่ง พจนานุกรมฉบับพ.ศ. 2525 นั้น เป็นฉบับปรับปรุงจากฉบับพ.ศ. 2493 โดยเริ่มมีการปรับปรุงตั้งแต่พ.ศ. 2520 จึงเป็นไปได้อย่างค่อนข้างจะแน่นอนว่า ชาติ๒ ชาติ๓ และชาติ๔ นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในช่วง 32 ปีหลังคำว่า “ชาติ” แบบที่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อพ.ศ. 2493 ซึ่งน่าจะมองได้สองกรณีว่า เป็นการ “สร้างขึ้นใหม่” หรือไม่ก็ “พิเคราะห์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วเห็นความหมายชัดเจนขึ้น” แต่แน่นอนว่าล้วนเป็นการบัญญัติความหมายแบบไทย

อยากจะขอพูดถึงชาติในความหมายของ “ชาติ๒” …

ด้วยว่ากลายเป็นคำไทยแล้ว ก็จะขอเติมคำว่า “ไทย” เข้าไป ทั้งหลังคำว่าชาติ และที่ท้ายของทุกหน่วยความหมายของ “ชาติ๒” (ผมต้องเติม และระบุความหมายเอาเอง เพราะในพจนานุกรมไม่มีคำว่า “ชาติไทย” และความหมายระบุไว้) ก็จะได้รูปลักษณะคำ ชนิดคำตามหลักไวยากรณ์ และความหมายใหม่ดังนี้

ชาติไทย [ชาดไท] น.ไทย. ประเทศไทย; ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศไทย, กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติไทย ศาสนาไทย ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย ความเป็นมาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทย อย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลไทยเดียวกัน, ประชาชาติไทยก็ว่า.

หากว่ากันตามความหมายดังกล่าว ภายใต้คำเชื่อม “หรือ” อันเป็นสันธานบอกความให้กำหนดเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมหมายความว่า เพียงอยู่ในปกครองรัฐบาลไทย ก็นับได้ว่าผมเป็นคนไทยคนหนึ่ง โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงความใดใดก่อนหน้าคำว่า “หรือ” เพราะฉะนั้น ก็ยิ่งไม่ต้องไปกังวล (ที่จริงก็มิได้กังวล) ว่าตนจะเป็นพม่า เพียงเพราะนั่ง หรือยืนพักขาเคารพเพลงชาติไทย

ก่อนจะว่ากันต่อไป ผมเหลือบมอง และพบความสนุกบางประการ ในการเอาคำว่าไทยไปต่อที่ท้ายคำ ชนิดคำตามหลักไวยากรณ์ ความหมาย และรวมถึงที่มาของคำว่าของ “ชาติ๑” ด้วย

ชาติไทย [ชาดไท] น.ไทย การเกิดไทย เช่น ชาตินี้ไทย ชาติหน้าไทย; กำเนิดไทย เช่น มีชาติมีสกุลไทย; เหล่ากอไทย, เทือกเถาไทย, เหล่าพันธุ์ไทย, เช่น ชาติเสือไทย, ชาติขี้ข้าไทย; ชนิดไทย, จำนวนไทย, พวกไทย, ชั้นไทย, หมู่ไทย. (ไทย)

กลับมาว่ากันต่อ…

คราวนี้ลองมาดูความหมายของคำว่า “ชาตินิยม” กันบ้าง ซึ่งพบว่า ในพจนานุกรมฉบับพ.ศ. 2493 นั้น ยังมิได้มีการบัญญัติความหมายไว้ แต่ถ้าเป็นฉบับพ.ศ. 2525 หน้า 268 ก็จะพบความหมายดังนี้

ชาตินิยม [ชาดนิยม] น. ลัทธิที่ถือชาติเป็นใหญ่, ความรักชาติ.

ถ้าเอาการปรากฏในพจนานุกรมเป็นหลัก แม้จะล่วงเลยมาถึง 25 ปี แต่ก็ต้องถือว่า “ชาตินิยม” เป็นของใหม่ใกล้ตัว แต่ถ้าว่ากันด้วยการปรากฏกระบวนการแล้ว ชาตินิยมเป็นเรื่องไกลตัวทางกาลเวลา หากแต่ใกล้ตัวหนักหนาในเรื่องของผลกระทบ ชนิดที่ไม่ต้องไปขุดค้นกันเลยว่า พจนานุกรมฉบับล่าสุดนั้นนิยามความหมายของชาตินิยมไว้ว่าอย่างไร

โดยลักษณะแล้ว ภายใต้ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์รวมศูนย์” (Centralized Historiography) ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้าง “ชาตินิยมรวมศูนย์” (Centralized Nationalism) นั้น ความเป็น “พวกเดียวกัน” ในความเป็นไทยที่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึก บอกว่าตนเป็น และอ้างถึงนั้น ย่อมอธิบายได้ชัดเจนที่สุดโดยใช้ความหมายของ “ชาติไทย” อันมีความประสมมาจากคำราก “ชาติ๒” (คำบาลีสันสกฤต ที่ตกต้องกลายเป็นคำไทย ด้วยการสร้างความหมายแบบไทยโดยคนไทยเพื่อคนไทย) กับคำว่า “ไทย” เพราะนอกจากเรื่องความเป็นพลเมืองไทย ที่ถูกกำหนดอย่างอัตโนมัติโดยข้อกฎหมายแล้ว นอกนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น บอกกล่าว และปลูกฝังผ่าน “ประวัติศาสตร์นิพนธ์รวมศูนย์” และ “ชาตินิยมรวมศูนย์” ดังกล่าว ซึ่งมีความเป็น “กลาง” แต่เพียงในเชิงภูมิศาสตร์ คือเป็นความ (อันควรจะ) เป็นไทย หรือสิ่ง (อันควรจะ) เป็นไทยตามสายตาของคนที่อยู่ในภาคกลาง (หรือให้ถูกต้องกว่านั้นก็ต้องบอกว่า คือความเป็นไทย หรือสิ่งเป็นไทยตามสายตาของคนหยิบมือหนึ่งในภาคกลาง ที่ใช้สถานะทางการเมืองมาถือตนเป็นศูนย์กลาง) โดยมิได้มีการคำนึงถึงความยิบย่อยที่ยิ่งใหญ่ อย่างเรื่องของความแตกต่างทางวัฒนธรรมความเชื่อ หรือแม้กระทั่งรูปแบบการปกครองภายใน ที่มิได้เหมือนกันในทุกภูมิภาค หรือที่เล็กลงมาคือท้องถิ่นสักเท่าไรนัก

จึงกล่าวได้ว่า เป็นการขยายความเป็นไทยภาคกลาง ให้กลายเป็นความเป็นไทยสำหรับทุกภูมิภาค โดยให้ทุกภูมิภาคปฏิบัติใน “สิ่งเป็นไทย” ตามที่ได้รับขยายไปจาก “ภาคกลางไทย” ซึ่งผมขอเรียกเอาเองว่าเป็น “ความเป็นไทย” แบบ “Central Region Centricism” คือเอา “ความคิด” ในภาคกลางเป็นศูนย์กลาง (ซึ่งกล่าวไปแล้วว่ามาจากชนชั้นผู้นำ) ส่วนจะขยายการครอบคลุมไปถึงไหนนั้น ให้อาศัยเอา “พื้นที่เอกราช” ที่ถูก “คนอื่น” เขาขีดแบ่ง เหลือไว้ให้จากยุคสมัยการล่า (ถูกล่า) อาณานิคม เป็นขอบเขตของการแพร่กระจายสำคัญ

คงเพราะในเชิงประวัติศาสตร์ ที่กลายมาเป็นแบบเรียน และในชีวิตจริงจนตราบเท่าทุกวันนี้ เรานั้นยังไม่เคยสูญเสียเอกราชอธิปไตย จนนำไปถึงสภาวการณ์ที่ต้องเผชิญกับ “การปกครองที่ไม่เป็นธรรมโดยรัฐ” จึงเป็นการยากที่เราจะเข้าใจว่า ผู้ที่ต้องสูญเสียเอกราชอธิปไตย จนต้องเผชิญกับลักษณะการปกครองดังกล่าว จะต้องใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกอย่างไร

หรือทำการต่อต้าน…ด้วยความรู้สึกอย่างไร

เราเรียนรู้การสูญเสียความเป็นเอกราช {[เอกกะราด] ว. เป็นอิสระแก่ตน, ไม่ขึ้นแก่ใคร.} แต่เพียงในมิติเดียว คือการพ่ายแพ้ของราชธานี (ซึ่งอาจเปรียบได้กับศูนย์กลางประเทศ) ต่อกำลังรบข­องอริราชศัตรูต่างๆ โดยถือว่าเป็นอริราษฎร์ศัตรูด้วย เพราะได้รับการปลูกฝังกันเป็นนัยว่า หากไม่มีราชก็ไม่มีราษฎร์ จนลืมนึกกันไปว่า หากไม่มีราษฎร์ไว้ระบุความเป็นเบื้องล่าง ก็ย่อมไม่อาจมีราชให้ได้ระบุความเป็นเบื้องบน

แต่หากดูตามความหมาย (ในพจนานุกรม) ของคำว่าเอกราชแล้ว เราก็จะพบว่า ทันทีที่ถือกำเนิดขึ้นมา เราทุกคนล้วนไม่มีเอกราชในตัว เพราะเราไม่ได้มีอิสระในทุกสิ่ง เรามีแต่อิสระที่ถูกกำหนดไว้ให้โดยรัฐ โดยอยู่ในรูปสิทธิหน้าที่ของพลเมืองตามกฎหมายเท่านั้น และจะได้รับการคุ้มครองหรือลงโทษตามกฏหมาย แล้วแต่ว่าเราเป็นผู้ละเมิดหรือถูกละเมิด และสิ่งที่รัฐกำหนดนั้น อาจอยู่ในรูปความเชื่อร่วมของสังคม ที่ถูกปลูกฝังร่วมกัน อันสามารถกลายเป็นมาตรฐานของสังคม และทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อว่า ตนสามารถมอบ “บทลงโทษทางสังคม” (Social Sanction) ในรูปแบบต่างๆแก่ใครก็ตาม ที่มีความคิดเชื่อผิดแผกไปจากนั้น

จึงพอจะทำให้เข้าใจได้ว่า สำหรับรัฐแล้ว เอกราชของชาติคือเอกราชของชน แต่เอกราชของชนนั้น ไม่แน่เสมอไปว่าจะเป็นเอกราชของชาติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นั่นก็เป็นเพราะ “ตน” ในความหมายของเอกราชนั้นไม่ได้หมายความถึง “Individual” หากแต่หมายถึง “ประเทศ” หรือ “เมือง” หรือ “รัฐ” ใดใดก็ตามที่คอยปกครอง “Individual” ที่อยู่รวมกันอีกที ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า การที่ Autonomy มีคำเรียกเป็นภาษาไทยว่า “เอกราช” ที่มาจาก “เอก+ราชา=ราชาองค์เดียว” ย่อมเป็นไปได้ว่า คำว่า “เอกราช” แบบไทยนั้น สร้างขึ้นภายใต้ความคิดเชื่อของผู้มีอำนาจ ว่าคือการอยู่ร่วมกันภายใต้การปกครองของราชาพระองค์เดียว ซึ่งก็หมายความว่า หากจะมีเอกราช เราต้องมีพระราชาสูงสุดเพียงพระองค์เดียว และจะต้องมิทรงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐ หรือประเทศอื่นใด

เราจึงคุ้นชิน กับเอกราชที่เกิดขึ้นแต่เมื่อมีการเปรียบปะทะ กับอำนาจรัฐที่มาจากนอกประเทศ แต่ยากจะรู้สึกคุ้นชิน หรือทำใจยอมรับ กับการเรียกร้องเอกราช ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่าง (คนกลุ่มน้อย, คนชายขอบก็ว่า) ภายในประเทศ ในขณะที่รัฐเอง ก็ให้คำจำกัดความเดียว ต่อการเรียกร้องเอกราชของกำลังชนในประเทศนั้น ว่าเป็นความพยายามเพื่อ “แบ่งแยกดินแดน” โดยมิเคยเปิดเผยสาเหตุที่แท้จริงของความต้องการนั้น หรือที่เปิดเผยออกมา ก็ยังเป็นเหตุผลแบบที่รัฐอยากให้เป็น อยากให้ทุกคนเชื่อว่าเป็น แต่มิยอมเปิดเผยความจริง ในส่วนที่เป็นการกระทำของรัฐแต่โบราณนานมา หรือแม้แต่ในปัจจุบัน ว่าเพราะได้เคยไปทำสิ่งใดไว้หรือไม่ จึงทำให้เกิดการเรียกร้องเอกราชนั้นขึ้น

จึงควรได้รับรู้กันว่า การเปิดเผยความจริงต่อสื่อ แต่เฉพาะความจริงในส่วนที่รัฐต้องการให้รับรู้ หรือเฉพาะความจริงในรูปแบบที่รัฐต้องการให้รับรู้ ก็เรียกได้ว่าเป็นการควบคุมสื่อแบบหนึ่ง โดยหวังผลเป็นการควบคุมประชาชน ให้อยู่ใต้อำนาจรัฐอีกที

ผมคงไม่ลงรายละเอียด ถึงความเป็นมาของทฤษฎีเรื่องการแบ่งแยกดินแดน เพราะมีผลงานทางวิชาการมากมาย ที่พูดถึงความเป็นจริงของสิ่งที่รัฐ (ในขณะนั้น ซึ่งผมไม่รู้ว่ารัฐในขณะนี้มีความตื้นลึกหนาบางในความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแค่ไหน) เรียกว่า “กบฎดุซงยอ” ที่รัฐใช้อัตวิสัยโยงเข้าว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “ฮัจญีสุหลง” มุสลิมหัวก้าวหน้าผู้เป็นเจ้าของ “ข้อเรียกร้อง 7 ประการ” และหายอย่างตัวลึกลับไปพร้อมกับบุตรชายคนโตและพรรคพวก หลังจากตำรวจสันติบาลเรียกไปพบที่สงขลา (13 สิงหาคม 2497) โดยข้อเรียกร้องดังกล่าว มีใจความเพื่อความเป็นเอกราชทางการปกครอง ที่สอดคล้องกับรูปแบบความเชื่อทางศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวมลายูมุสลิม ซึ่งไม่ได้รับจากรัฐไทย ทั้งในด้านความเข้าใจและการปฏิบัติใช้ อย่างถูกต้องเพียงพอ และสม่ำเสมอ (ความผันผวนทางการเมืองเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่ง และจงอย่าลืมว่า การเมืองนั้นขับเคลื่อนโดยคน เช่นนั้นแล้ว ความไม่จีรังสอดคล้องนั้นย่อมเป็นผลจากทรรศนะของคน ผู้มีอำนาจขับเคลื่อนการเมือง โดยแรงขับที่รุนแรงที่สุดน่าจะเป็นแนวคิดในเรื่องของนโยบายสร้างชาติ) และข้อเรียกร้องดังกล่าว ยังทำให้ฮัจญีสุหลงตกอยู่ในสถานะจำเลยในคดี “ขบถแบ่งแยกดินแดน” อีกด้วย

และคงไม่พูดถึงเรื่องราวการสร้างชาติ ด้วยการกระชากการแต่งกายแบบมุสลิม หรือแม้แต่แบบไทยเดิมทิ้ง แล้วให้แต่งกายแบบฝรั่งในทศวรรษค.ศ. 1940 – 1950[2] เพื่อแสดงความเป็นไทยอารยะ หรือพรบ.การศึกษา ที่ออกมาเพื่อสร้างการศึกษาแบบไทย (ภายใต้ความเป็นวิทยาศาสตร์แบบฝรั่ง) ขึ้นแทน โดยมิทันคำนึงว่าจะเป็นการคุกคามปอเนาะ หรือเรื่องการยกเลิก “ดะโต๊ะยุติธรรม” (ศาลอิสลาม) เพื่อใช้ระบบยุติธรรมแบบไทยแทน

หรือคงไม่พูดถึงเรื่องราวใกล้ตัวทางเวลา แต่ไกลตัวทางภูมิภาค หรือทางความสนใจ อย่างเรื่องการหายตัวลึกลับของผู้ต้องสงสัยจำนวนนับร้อย หลังเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เรื่องความตายมากมายที่ยังคงคลุมเครืออยู่ในมัสยิดกรือเซะ และการปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมในกรณีตากใบ (ที่น่าทึ่งราวกับเป็นการสะกดจิต กับปฏิบัติการราวเห็นว่าคนเหล่านั้นไร้ชีวิต กระทั่งมีผู้ถูกจับกุมส่วนหนึ่งพ่ายแพ้ต่อการสะกด ตกต้องกลายเป็นร่างไร้ชีวิตขึ้นมาจริงๆ) เพราะเหล่านั้นล้วนสามารถหาอ่านได้ไม่ยาก หากตกอยู่ในฐานะข้อมูลที่ได้รับความสนใจเพียงพอ และเยอะแยะมากมาย จนผมไม่อาจระบุชื่อเจ้าของผลงานได้หมด และยังไม่อาจอ่านได้ครบหมดเช่นกัน (แต่เป็นที่เชื่อได้เลยว่า เมื่อได้อ่านแล้ว ผู้อ่านย่อมได้รับมุมมองความคิดที่แตกต่าง หรือแม้กระทั่งความจริงที่แตกต่าง จากที่เคยรับรู้กันมาผ่านสื่อต่างๆอย่างแน่นอน)

จุดร่วมหนึ่งที่มองเห็น ทั้งจากมวลเหตุการณ์ดังกล่าว หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจยิบย่อยถึงระดับชีวิตประจำวัน เพียงความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างบุคคล ผมก็พบว่า ความเป็น “ชาตินิยม” ที่วิ่งผ่านกาลเวลามายาวนาน เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง ที่นำมาซึ่งปัญหาหลายๆประการในรัฐ ในสังคม หรือเพียงหน่วยเล็กๆอย่างชีวิตของผม เช่น “มึงเป็นพม่าเรอะ?” เป็นต้น

แม้กระทั่งขณะที่นั่งเขียนอยู่นี้ ผมก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกกังวลใจอยู่ลึกๆว่า ความของสิ่งที่เขียนนั้น จะไปเหยียบเอา “ตาปลาชาตินิยม” ที่เท้าไทยของใครเข้าหรือไม่

อันที่จริง ไม่ใช่เพียง “เอกราช” เพราะแม้แต่ “ความเป็นไทย” จะเป็นสิ่งไหนได้บ้างนั้น เราก็ยังรู้ขึ้นมาได้โดยเมื่อมีใครมากำหนด ยิ่งในสังคมที่มีความซับซ้อน ปะปนกันของความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างในทุกวันนี้ ย่อมยิ่งยากจะบอก ว่าสิ่งใดอันไหนที่เป็นไทยแท้ จึงต้องมีผู้ใหญ่ไทยที่ใส่สูท หรือแต่งกายแบบตะวันตก ห่อหุ้มไว้ภายในซึ่งชั้นในแบบตะวันตก หรือลึกกว่านั้นคือความคิดแบบตะวันตก ือสนับสนุนายในซึ่งชั้นในแบบตะวันตก ออกมาท้วงถามหา หรือสนับสนุนความเป็นไทยแท้แบบที่ตนว่าอยู่เป็นนิจ

และมีอยู่บ่อยครั้ง จนผมรู้สึกว่ามันเป็นประจำ ที่เมื่อคิดอยากจะปลุกสำนึกความรู้สึกรักชาติกันขึ้นมาทีไร ก็จะต้องมีการรำลึกลำเลิก ถึงบุญคุณว่าด้วยชีวิตเลือดเนื้อที่ (ว่ากันว่า) บรรพบุรุษได้ทาไว้ในประวัติศาสตร์ จนผมสงสัยว่า เป็นไปไม่ได้เลยหรือ หากเราจะปลุกจิตสำนึกความรักชาติ โดยยึดเอาจากสิ่งดีรอบตัวที่มีในปัจจุบัน หรือเพราะปัจจุบันนั้นไม่มีสิ่งดีที่ว่า เลยต้องไปขอความช่วยเหลือจากบรรพบุรุษกันร่ำไป

แต่ถ้าจะพูดถึงสิ่งดีของชาติ ที่ทุกวันนี้ยังมีอยู่อย่างชัดเจน และควรรักษาไว้ด้วยใจมั่นถึงขั้นชาติพลี ก็คงไม่พ้นสามสถาบันหลัก “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นแกนอุดมการณ์ชาตินิยมเดิม ที่อยู่มาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และปัจจุบัน มักตกอยู่ในฐานะ “Demagogic Weapon” อาวุธล่อหลอกที่ใช้อคติอันเปราะบางเป็นตัวนำวิถี ให้เหล่า “เดมาก็อก”*** ใช้ในการฟาดฟันศัตรูทางการเมืองเสียมากกว่า ดังเช่นที่เราจะเห็นคำว่า “ขายชาติ” หรือ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ถูกใช้กันเกร่อในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะกรณี “หมิ่นฯ” จะเห็นได้บ่อยมาก

[*** Demagogue: กลุ่มคนที่ช่วงชิงพื้นที่ทางอำนาจโดยใช้อคติความเชื่ออันเปราะบางเป็นตัวเหนี่ยวนำ พลิกย้ายถ่ายโอนกำลังส่วนใหญ่ของผู้คนมาเป็นกำลังสนุบสนุนของตน]

ภายใต้พระราชดำรัสเมื่อปลายปีพ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กระแส “หมิ่นฯ” กำลังร้อนแรง องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงดำรัสไว้เป็นความทำนองว่า “สามารถวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้ตามจริง” (แม้ความจริงแล้ว อาจจะเป็นพระบรมราชานุญาตเพื่อบอกคนบางคนในเวลานั้น ให้รู้จักสำเหนียกสถานะตนก็ตาม) ผมสงสัยเป็นหนักหนาว่า แล้วระหว่างผู้ที่ติเพื่อก่อ วิจารณ์เพื่อความก้าวหน้า กับฝ่ายที่กล่าวหาว่าฝ่ายติฝ่ายวิจารณ์นั้นกระทำการ “หมิ่นฯ” นั้น ฝ่ายใดกันแน่ ที่กำลังทำการ “หมิ่นฯ”

หรือในกรณีการตอบโต้กันทางการเมือง ภายใต้สภาพที่ต่างฝ่ายต่างก็ยึดโยงการกระทำของใครบางคน การกระทำของคนบางกลุ่มว่าเป็นการ “จาบจ้วง” พระบารมี ผมก็สงสัยอีก ว่าฝ่ายใดกันแน่ที่กำลังทำการ “หมิ่นฯ” เพราะถ้าว่ากันตามจริงแล้ว เป็นไปได้สูงว่า ต่างฝ่ายต่างก็ใช้สถาบันกษัตริย์ หรือกระทั่งบังอาจใช้องค์พระเจ้าอยู่หัวมาเป็นข้ออ้าง เป็น “Demagogic Weapon” ในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทั้งสิ้น

มาว่ากันต่อ…

“ชาตินิยม” ที่ถูกสร้างขึ้นนั้น เป็นไปเพื่อสร้างอัตลักษณ์อันเป็น “เอกลักษณ์” ของชาติ โดยเมื่อเป็น “เอกลักษณ์” (น. ลักษณะที่เหมือนกันหรือมีร่วมกัน) แล้ว ก็ย่อมมีความหมายโดยนัยอีกอย่างว่า เป็น “สิ่งที่เรามี เขาไม่มี” เมื่อเป็น “เอกลักษณ์ชาติ” จึงขยายนัยความหมายนั้นต่อไปได้ว่า “สิ่งที่ชาติเรามี ชาติเขาไม่มี” หรือ “สิ่งที่ชาติเราเป็น ชาติเขาไม่เป็น” เพื่อสร้างความแตกต่างอันชัดเจน ออกจากชาติอื่นๆ โดยจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนนั้น เกิดขึ้นในสมัยของความหวาดกลัวต่อภัยล่าอาณานิคม แม้ตอนนั้นความเป็น “รัฐชาติสมัยใหม่” จะยังไม่ปรากฏ เพราะ “สยาม” ยังมีการปกครองแบบ “รัฐราชาธิราช” แต่การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวแบบชาตินิยมก็ได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อบอกแก่คนในชาติ และมหาอำนาจผู้ควบรวมได้ว่า เหตุใดชาติอื่นในละแวกเดียวกันนั้นจึงถูกควบรวม และเหตุใดสยามเราจึงไม่ควรถูกควบรวม เพราะตัวผู้ควบรวม ย่อมอ้างเหตุผลเรื่องการแบ่งปันอารยะ มากกว่าจะพูดเหตุผลแท้จริงอย่างการช่วงชิงทรัพยากร

และหากไปเปิดดูในดิกชันนารีหลายๆเล่ม เราจะพบทันทีโดยมิต้องมานั่งขยายความเพิ่มเติมเองเลยว่า “ชาตินิยม” หรือ “Nationalism” นั้น สามารถหมายความไปในอีกทางว่า “ไม่ยอมรับ” ในชาติอื่น ด้วยคิดว่าชาติของเรานั้นดีกว่า และเป็นความหมายภายใต้การใช้กับตัวบุคคล

ไม่ว่าจะมองในทางไหน ก็ล้วนเป็นชาตินิยมที่เกิดขึ้นโดยการสร้างอัตตา และแบ่งเขาแบ่งเราอย่างชัดเจน ที่แลดูจะมีความย้อนแย้งกับชาตินิยมไทย หากใช้บนฐานพระพุทธศาสนา ที่มักกล่าวกันไปในทางที่ว่า ไทยนั้นเป็นเมืองพุทธ จึงมีความเมตตาเป็นเครื่องมือช่วยจัดการกับปัญหา ช่วยประสานความขัดแย้งต่างๆ และด้วยเมตตาอันช่วยประสานความขัดแย้งได้นี้เอง แม้สังคมเราจะแบ่งแยกเป็นชนชั้นก็ไม่เป็นไร หรือในทำนองที่ว่า พระพุทธศาสนาทำให้พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีเมตตา ด้วยทรงปกครองโดยทศพิธราชธรรม จึงทำให้ชาติเจริญก้าวหน้าและผาสุก

ที่ว่าย้อนแย้งนั้นก็เพราะว่า หลักใหญ่ใจความแห่งพุทธศาสนา ที่อยู่เหนือไปกว่าเรื่องเมตตากรุณา (อีกทั้งไทยนั้นมีเพียงเมตตา แต่ขาดกรุณา กล่าวคือมุ่งให้ผู้อื่นเป็นสุขแบบไทยคิด ผลคือเป็นสุขครั้งคราว ด้วยตกหล่นเรื่องทำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์อย่างถาวร) ก็คือการสลายอัตตาให้สิ้น เพราะทุกสิ่งนั้นล้วนอนัตตา กับทั้งหากถือไว้ซึ่งอัตตา ย่อมนำมาซึ่งปัญหา เพราะทันทีที่เกิด “ตัวกูของกู” ขึ้นมา ก็หมายความว่าย่อมต้องมี “ตัวมึงของมึง” ขึ้นพร้อมๆกันด้วย ซึ่งย่อมหมายความว่า หากคิดใช้พุทธศาสนาเป็นคุณลักษณะหนึ่งของความเป็นไทย ก็คงไม่อาจเป็นได้ถึงระดับแก่น แต่เป็นได้เพียงตามคำสอนบางประการเท่านั้น จึงไม่ควรนำพุทธมาอ้าง เพราะถือได้ว่าเป็นการบิดเบือนแก่นแท้แห่งคำสอนด้วยกระพี้บางประการ (ผมถือว่าเมตตาเป็นเพียงกระพี้เมื่อเทียบกับแก่นใหญ่อย่างอนัตตา)

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมไม่ได้เป็นทั้งพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม หรือศาสนิกชนอื่นใด เพราะตราบที่ตนไม่อาจปฏิบัติตนได้ถึงแก่นแท้แห่งศาสนาใด ย่อมไม่อาจอ้างเอาตนเป็นชนในศาสนานั้นให้ตัวแก่นแท้ต้องแปดเปื้อน แต่ที่กล่าวราวปกป้องนั้น ผมปกป้องในฐานะที่พุทธเองก็เป็นศาสนาหนึ่ง อันมีคุณูปการต่อโลกเฉกเช่นศาสนาอื่น จึงมิควรถูกทำให้แปดเปื้อน ด้วยเหตุผลทางการเมือง (จะกล่าวต่อไป ว่าเหตุใดจึงเป็นการเมือง)

หรืออาจจะมีความเป็นไทยในแบบที่ว่า ทุกคน ไม่ว่าเป็นใคร ชนชาติใด ศาสนาใด ล้วนได้รับความเป็นไทยอย่างเท่าเทียมกันภายใต้พระบรมโพธิสมภาร หรือความเป็นไทยแบบรัชกาลที่ 6 ที่ทรงผนวกรวมไว้ใต้ความจงรักภักดีอันมีต่อองค์พระมหากษัตริย์ และพระพุทธศาสนา

จึงจะเห็นได้ว่า เรามีการสร้างชาติ ภายใต้การยึดโยงจิตใจ ความคิด รูปกระบวนวิธีคิด ให้ผูกติดอยู่กับสิ่งใดใด อันเป็นภาพลักษณ์ที่ใหญ่กว่ามิติเล็กๆใกล้ๆตัว แต่ยิ่งใหญ่อย่างเพียงความแตกต่างทางความคิด ทั้งยังถูกทำให้เชื่อว่า หากเชื่อมั่นในสิ่งใหญ่ที่ยึดโยงใจไว้นั้นแล้ว ชาติก็จะอยู่ได้ เช่นความคิดอย่าง “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” ของ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เป็นต้น

หากได้ศึกษาถึงความเป็นมาของ “ชาตินิยมไทย” แล้วก็จะพบว่า มักถูกสร้างขึ้นมาอย่างรีบร้อน โดยมีปัจจัยเร่ง หรือปัจจัยบีบคั้นทางการเมือง ทั้งจากภายนอกอย่างการขยายขอบเขตครอบครองดินแดนของชาติมหาอำนาจในแต่ละยุคสมัย จนยุคสมัยหนึ่งต้องเข้าร่วมกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร ด้วยคาดผิดว่าญี่ปุ่นจะชนะ และพาตนเกาะกระแสมหาอำนาจเพื่อรอดพ้นจากภัยคุกคามจากตัวญี่ปุ่นเอง และจะได้เป็นใหญ่ไปด้วย แต่เมื่อไม่เป็นดังคิด ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ก็ต้องหันมาปลุกผีสำนึกดั้งเดิมว่าเป็นไทยคือมี “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยบอกว่าคอมมิวนิสต์จะทำลายสถาบันทั้งสามเสียสิ้น (ซึ่งเป็นความจริง)

หรือปัจจัยภายใน อย่างการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในสมัยรัชกาลที่ 6 หรือการสร้างมโนทัศน์เรื่องชาติไทย ในแบบที่เป็นชาติของราษฎรในรัชสมัยเดียวกัน อันเป็นที่กังวลว่าอาจเป็นผลให้นำพาสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก Absolute Monarchy เป็น Constitutional Monarchy ได้ และในรัชสมัยเดียวกันอีกนั่นเอง ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองภายใน ระหว่างฝ่ายจ้าวและฝ่ายที่ต่อต้านจ้าว (ผมเลือกใช้คำว่า “จ้าว” ที่เป็นภาษาโบราณ ซึ่งมีความหมายเดียวกับ “เจ้า” เพราะในแง่ของการออกเสียง และความรู้สึกส่วนตัวแล้ว การใช้คำว่า “จ้าว” ดูจะถูกต้องกว่า “เจ้า”) หรือการขยายตัวของคนจีนในสมัยเดียวกัน จนแลดูจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกรณีหลังสุดนี้อยู่ในข่าย “ผู้ที่ถูกทำให้เป็นอื่น” เพื่อสัมฤทธิ์ผลแห่งชาตินิยม

ด้วยความเร่งรีบ อันเป็นผลจากความผันผวนทางการเมืองดังกล่าว กระบวนวิธีการสร้าง “ชาตินิยมไทย” จึงออกมาในรูป “หักหาญกลืนกินซึ่งวัฒนธรรมอย่างเอาแต่ใจ” แทนที่จะเป็น “ผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมด้วยความเข้าใจ” เพราะต้องรีบสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้เร็วที่สุด

(สามารถดูการเปลี่ยนแปลง และสาเหตุแห่งการเกิดขึ้นของชาตินิยมในแต่ละยุคสมัยได้จากตารางตอนท้าย)

ส่อแสดงถึงการไม่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ตัวเองเต้นเร่าๆ ขยาดหวาดกลัวกับการกลืนกินดังกล่าว แต่ก็ยังใช้การกลืนกินดังกล่าวจัดการกับความแตกต่างภายใน เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดอันเกิดมีแต่ความหวาดกลัวต่อภัยจากภายนอก

และจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับการต่อต้านจากผู้คนแทบทั้งประเทศ เมื่อได้รับการเสนอว่าเป็นการกระทำของ “โจรก่อการร้าย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “แบ่งแยกดินแดน”

จนทำให้ผมสงสัยว่า หากในวันนี้ เราได้รับรู้ความจริงโดยถ้วนทั่วกันว่า ในความรู้สึก อันเกิดแต่การเสนอข่าวของภาครัฐ ว่า “เรา” เจ็บไปเยอะ “เรา” ตายไปเยอะ แต่พวก “เขา” เองก็ตายไปเยอะ เจ็บไปเยอะ และเจ็บมาอย่างยาวนานกว่าภายใต้การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งความรุนแรงในทุกวันนี้คือปลายทาง คือผลจากการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว คนส่วนใหญ่ก็อาจยังมีทัศนคติต่อมวลเหตุการณ์ดังกล่าวไปในแบบเดิมๆ เพราะยังคงตกติดอยู่ในวังวนความเชื่อที่ว่า ชาติไทยเป็นองค์ผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่า ในเมื่อเชื่อกันว่า ครั้งหนึ่งเราเคยรบกับพม่า (ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์รวมศูนย์เช่นกัน) เพื่อชาติแล้ว จะต้องรบกับคนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าวบ้างจะเป็นไร

ถึงตรงนี้แล้ว ก็อยากจะขอยกเหตุการณ์ช่วงนี้ ที่แลดูเกี่ยวข้องโดยตรง ว่าน่าจะเป็นปัญหาหนึ่งจาก “ชาตินิยมไทย” ขึ้นมาประกอบ

เพราะเรื่องความตายของครูจูหลิง ที่เข้ากระบวนการทำให้เป็นอนุสรณ์ทรงจำ ผ่านทางการยื้อชีวิตอย่างยาวนาน อัครฐานแห่งงานศพ เอิกเกริกเกียรติยศประกาศ ก็อาจตกต้องกลายเป็น “เครื่องมือใหม่” ของ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์รวมศูนย์” เพื่อปลุกกระแสให้ “ชาตินิยมรวมศูนย์” ร้อนแรงขึ้นมาอีก

เรื่องความรู้สึกต่อความตายของครูจูหลิงนั้น ก็สามารถส่อแสดงถึงความตื้นเขิน ขาดความซับซ้อน ในการใช้มิติความคิดของคนส่วนหนึ่ง ต่อเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีพื้นฐานการคิดแบบชาตินิยมไทยได้อยู่ไม่น้อย

อนึ่ง เพราะเราได้มีสถานะตั้งต้นแล้วว่า ผู้ถูกฆ่าคือ “ครู” และผู้ฆ่าคือ “โจร” และมีอุปลักษณ์สากลที่ค่อนข้างชัดเจนว่า “ครู” คือตัวแทนของ “ความดี” และ “โจร” คือตัวแทนของ “ความชั่ว” ซึ่งเมื่อโยงใยเข้ากับมิติทางศีลธรรมแล้วจะทำให้เห็นว่า ในเกมการฆ่านี้ ฝั่ง “ที่ถูกเรียกว่า” โจรนั้นมีแต่เสียกับเสีย และฝั่ง “ครู” นั้น แม้ต้องเสียชีวิตไป แต่ในเชิงของผลลัพธ์แล้วมีแต่ได้กับได้ คือไม่ว่าจะฆ่าหรือถูกฆ่า “ครู” ย่อมได้รับการประทับตราว่าเป็น “วีรชน” ในขณะที่ฝ่าย “โจร” ไม่ว่าจะฆ่าหรือถูกฆ่า สถานะก็ยังคงเป็น “โจร” ถ้าเป็นฝ่ายฆ่า คนก็ยิ่งสำทับความเป็น “โจร” ใส่ให้มากมายยิ่งขึ้น แต่ถ้าถูกฆ่า ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว หรือกระทั่ง “อุ้มเงียบฆ่าเงียบ” ก็อาจได้รับการหรี่ตามองว่าเหมาะสมแล้วเช่นกัน

จึงมักได้รับฟังแนวทรรศนะที่ว่า เหตุที่ต้องฆ่าครู เผาโรงเรียน ก็เพราะเหล่านั้นเป็นอุปลักษณ์แห่ง “ความดี” จึงเป็นการปรกติ ที่ “โจร” อันถืออุปลักษณ์แห่ง “ความชั่ว” จะต้องฆ่าและทำลาย เพราะจะได้ไม่มีสิ่งใดมาคอยสร้างเสริม และต่อยอด “ความดี”

นั่นเป็นการมองเพียงในแง่ศีลธรรม…ซึ่งคิดว่าน่าจะตื้นเขินเกินไปสำหรับกรณีดังกล่าว

เมื่อลงลึกไปในระดับวัฒนธรรม หากความคับแค้นในอดีต ของมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงโยงใยกับเหตุการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ดังกล่าว เราจะพบว่า เมื่อตัดเรื่องของความรุนแรงในพฤติกรรมไปแล้ว การฆ่าครู เผาโรงเรียนนั้นก็ย่อมไม่ใช่การฆ่า ไม่ใช่การเผาทำลาย ที่คุ้นชินกันในความหมายธรรมดาทั่วไป หากแต่เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ สื่อแสดงถึงการต่อต้าน ประกาศไม่รับเอาสิ่งซึ่งรัฐจัดให้ ด้วยเชื่อว่ามีสิ่งดีอื่นที่สำคัญเหนือกว่า ซึ่งการกระทำเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว ภายใต้ความเชื่อดังกล่าว น่าจะถือเป็น “อารยะขัดขืน” (Civil Disobedience) ได้ แม้ว่ารูปแบบการขัดขืน จะออกมาในลักษณะที่ถูกระบุได้ว่า ไม่มีแม้เสี้ยวกระผีกของความเป็นอารยะก็ตาม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวผู้เขียนยังไม่อาจมองเห็นชัดเจนว่า แนวคิดรากฐานอันเป็นที่มาของ “อารยะขัดขืน” ดังกล่าวนั้น เป็นเพียงความคิดของกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย” หรือล้วนเป็นของมลายูมุสลิมทั้งหมดในพื้นที่

แต่เดิมนั้น รูปแบบการเรียนการสอน (ตามแบบศาสนาอิสลาม) ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมี “ตาดีกา” (โรงเรียนสอนศาสนาเบื้องต้นสำหรับเด็ก) และ “ปอเนาะ” (โรงเรียนสอนศาสนาสำหรับบุคคลทั่วไป เรียนได้ตั้งแต่เยาวชนจนแก่เฒ่า และ เรียนฟรี สอนฟรี อยู่ฟรี) เพราะในศาสนาอิสลามนั้น การศึกษาและศาสนาจะไม่แยกออกจากกัน อิสลามนั้นเน้นไปที่การรู้จัก “วิถีชีวิต” ของตัวเอง ก่อนที่จะสร้าง “ทักษะชีวิต” ให้ตัวเอง[3] ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตปรกติแล้ว ตัวผู้เขียนเข้าใจว่า เป็นการสอนให้เป็น “สัตว์มนุษย์” ที่สมบูรณ์พร้อมในความดี ก่อนที่จะพาตัวเองสู่ความเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” หรือ “สัตว์การเมือง” ในส่วนของปอเนาะนั้น จึงไม่ได้สอนแต่เฉพาะเรื่องศาสนา แต่ใครใคร่เรียนสิ่งใด ก็ให้หาตำรามา แล้วโต๊ะครูก็จะสอนให้ตามตำรานั้น จึงน่าจะบอกได้ว่า เป็นจุดประสงค์ในการสร้างคน เพื่อให้เติบโตขึ้นมาแบบ “คุณธรรมนำความรู้” มาตั้งแต่ต้น

ส่วนการศึกษาแบบไทย (ที่มีการเรียนการสอนแบบวิทยาศาสตร์ฝรั่ง) ตามแบบรัฐชาติแบบใหม่ แม้ที่ปลายทางปัจจุบันนี้ จะมีการพูดถึงการสร้างคนแบบ “ความรู้คู่คุณธรรม” ขึ้นมาอยู่บ้าง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ก่อนจะมาถึง “กาละ” อันเน้นย้ำไปยังจุดดังกล่าว เราสร้าง “เทศะ” ทางการศึกษาขึ้นมาเพื่อถมเต็มพื้นที่รกร้างทางความรู้ โดยมีโรงเรียน หรือสถานศึกษาเพื่อแสดงถึงอุปลักษณ์ของความรู้ ด้วยคาดหวัง และเชื่อ (ตามแบบฝรั่ง) ว่า การศึกษานั้นจะช่วยเจือจาน ค้ำจุน เกื้อหนุนความเจริญของชาติ ให้ก้าวทัดเทียมเท่าเหล่าประเทศอารยะ หรือถ้าย้อนไกลไปกว่านั้น ก็ต้องบอกว่า “กาลเทศะ” ดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลิตคนออกมารับใช้ระบบราชการ รับใช้การปกครองแบบลำดับขั้นแนวตั้งตามระบอบ Absolute Monarchy ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า เป้าประสงค์เริ่มต้นของการศึกษาไทยนั้นเป็นไปในสองลักษณะหลักคือ 1. เพื่อรับใช้สืบสานรักษาไว้ซึ่งอำนาจ และ 2. เพื่อสร้างความเจริญ (ซึ่งทั้งสองประการล้วนเป็นแบบ Central Region Centricism และปัจจุบัน ความเจริญนั้นส่อไปในทางวัตถุมากขึ้น) ส่วนคุณธรรมนั้น เข้าใจว่าคงถูกแยกออกมาให้เป็นหน้าที่ของศาสนา หรือวิชาพระพุทธศาสนาอีกที

และอีกสิ่งที่ถูกแทรกสอดไว้ คือเป็นช่องทางให้ทำการลื่นไหล “ชาตินิยมไทย” ลงไปในแบบเรียน หรือแม้แต่ในตัวครูผู้สอนเอง เพราะล้วนสามารถลงไปถึงตัวผู้เรียนได้

เมื่อดูถึงความแตกต่างแห่งเป้าประสงค์ ระหว่างการศึกษาแบบอิสลาม และการศึกษาแบบไทยฝรั่งและวิธีการนำการศึกษาไทยแผ่ผ่านไปกับรูปแบบการใช้ชาตินิยมไทยดังกล่าวแล้ว จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า เหตุใดการศึกษาหรือความรู้ อันเป็นอุปลักษณ์ของสถานศึกษาไทยนั้น จะสามารถบีบคั้นให้ชาวมลายูมุสลิมรู้สึกว่าทำให้ตัวเองถูกกลืนกินอัตลักษณ์ ซึ่งการกลืนกินที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ การเรียนเป็นภาษาไทย และอยู่ภายใต้ระบบการศึกษาไทย ซึ่งยังคงเป็นปัญหาแก่มลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้มาจนทุกวันนี้

แม้ปัจจุบัน จะมีการให้ความใส่ใจปอเนาะมากขึ้น โดยมีการจดทะเบียนรับรอง แต่ความใส่ใจที่มากกว่า กลับเป็นการมองว่าปอเนาะเป็น “แหล่งซ่องสุมเพาะพันธุ์ผู้ก่อการร้าย” ไปเสีย อีกทั้งปัญหาที่รัฐยังไม่ได้ทำการแก้ไขก็คือ การรับรองเทียบระดับวุฒิ ว่าผู้จบการศึกษาจากปอเนาะในแต่ละระดับนั้น เทียบเท่าได้กับการจบการศึกษาในสายสามัญที่ระดับใด (เช่นจบปอเนาะระดับ 10 กับจบมัธยม 6)[4] เพราะการที่รัฐไม่รับรองนั้น ทำให้มีปัญหาผู้จบการศึกษาจากปอเนาะ ไม่สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาสายสามัญได้ ต้องไปศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาอิสลามนอกประเทศ อีกทั้งจบแล้วก็ไม่อาจกลับมาทำงานในประเทศได้[5] เนื่องด้วยทางการไม่ให้การรับรอง เพราะไม่ได้มีวุฒิตามสายการศึกษาสามัญ นั่นหมายความว่า แม้จะปฏิเสธด้วยการไม่เข้ารับการศึกษาแบบไทย แล้วร่ำเรียนตามแบบดั้งเดิมของตัวเอง แต่เมื่อจบแล้ว ก็ไม่อาจทำงานในประเทศไทย

อย่าพูดนะครับว่า “ก็หาปลากรีดยางไปสิ” เพราะการแก้ปัญหาแบบนั้นมันทุเรศ…

รู้สึกว่า ในบทความชิ้นนี้ ผมจะพูดว่า “เราคงปฏิเสธไม่ได้” มาหลายครั้งหลายครา (และมีเกณฑ์จะพูดต่อไป) แต่ว่า เราก็คง “ปฏิเสธไม่ได้” จริงๆ ว่าการศึกษานั้น สามารถนำพา “การครอบงำ” ไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง และค่อนข้างจะได้ผลสำเร็จอย่างน่ากลัว เพราะเป็นสิ่งที่ปลูกฝังกันได้ตั้งแต่ช่วงเวลาที่สมองน่าจะยังว่างโล่ง คือวัยเด็ก (น่าแปลกที่ในบางประเทศนั้น ปลูกฝังกันจนเป็นผู้ใหญ่แล้ว สมองก็ยังว่างโล่ง) ยิ่งกับในประเทศที่ยอมรับการปกครองแนวตั้ง ที่ไม่ใช่แนวตั้งเพียงในรูปแบบการปกครองระดับรัฐ แต่ยังมีแนวตั้งตามการปกครองทางวัฒนธรรมประเพณี คือระบบอาวุโส ภายใต้ประเทศแบบนั้น การครอบงำกันด้วยการศึกษาน่าจะยิ่งได้ผลดี กล่าวคือ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน หรือแม้กระทั่งในระดับอุดมศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ (บางท่าน) กับลูกศิษย์ ก็ยังคงโยงยึดอยู่กับระบบอาวุโสแบบ “ตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” เช่นนั้นแล้ว ในการรับการถ่ายทอดเนื้อหาวิชา (รับการครอบงำ) หลายคนจึงตกติดอยู่ภายใต้ระบบอาวุโสในแบบดังกล่าวอย่าง่ายดาย ด้วยมุ่งเน้นการเคารพกันไปที่อาวุโสทางเวลาหายใจที่ยาวนานกว่า ริ้วรอยกาลเวลาบนหนังหน้าที่เยอะกว่า หรือแม้ทางปัญญา ก็ยังเน้นการเคารพไปที่ระดับอาวุโสทางการศึกษาที่สูงกว่า ส่วนเรื่องอาวุโสทางความคิด ซึ่งวัดกันได้จากความกว้างขวางในมิติมุมมองที่มากกว่า และในบางกรณี อายุที่มากกว่าหรือระดับการศึกษาที่สูงกว่าไม่อาจช่วยขยายความกว้างนั้นได้ กลับไม่เน้นกัน

ผมว่าเราไม่ต้องมองไปไหนไกล แค่มองไปในสังคมใกล้ๆตัวอย่างตั้งใจ เราก็จะพบได้ว่า ยังมีคนส่วนใหญ่ ที่เติบโตมากับระบบการศึกษา หลักสูตรการศึกษา เนื้อหาการศึกษาแบบไทย ตกติดอยู่ภายใต้การครอบงำโดยรูปลักษณะของการศึกษาแบบไทย

ดังนั้น หากถามว่าสิ่งใดที่การฆ่าครู เผาโรงเรียนเป็นสัญลักษณ์สื่อถึง ผมเชื่อว่ามันคือ “การครอบงำของไทย” นั่นเอง

ผมเองกำลังนั่งนึกอยู่ว่า ถ้าการณ์มันกลับกันหมด ผมตกเป็นคนไทยส่วนน้อย พูดภาษาไทย เคยเรียนแบบไทย มีศาสนาแบบไทย มีวัฒนธรรมประเพณีแบบไทย มีประวัติศาสตร์แบบไทย แต่อยู่ภายใต้การเรียนการสอนแบบอิสลาม ภาษามลายู วัฒนธรรมประเพณีมลายู ประวัติศาสตร์มลายู ทุกอย่างดำเนินไปภายใต้นโยบายชาตินิยมมลายู และเป็นสิ่งที่ผมถูกบังคับว่าต้องทำตาม ผมก็คงงงๆอยู่เหมือนกัน ว่า “แล้วนี่กูเป็นใคร?” แต่ผมก็อาจถูกกลืนกินได้โดยง่าย หรือโดยเต็มใจ เพราะก็นึกไม่ใคร่จะออก ว่าจะเอาอะไรไปบ่งบอกถึงความเป็นไทย นอกจากแนวคิดชาตินิยมแบบเลื่อนลอยกะปลกกะเปลี้ย ครั้นจะเอาประวัติศาสตร์ไปสู้ ก่นบอกว่า “กูก็มีที่มานะเว้ย!!” ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีใครฟังหรือไม่

ทว่า การณ์มันยังไม่กลับกัน เพราะอย่างนั้น ย่อมเป็นไปได้ว่า ความกังขาเมื่อย่อหน้าที่แล้ว กำลังวิ่งวนไปมา ในหัวมลายูมุสลิมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในเรื่องประวัติศาสตร์ ที่เขาก็มีของเขาเอง ก็น่าจะชวนงงอยู่ในระดับหนึ่ง ว่าแล้วไอ้ที่อยู่ในแบบเรียนนั่นมันประวัติศาสตร์ใคร แต่ที่แตกต่างกันก็คือ พวกเขาคงรู้ ว่าจะเอาอะไรมาสู้ เพราะแลดูแล้วระดับความเข้มแข็ง และชัดเจนของความเชื่อน่าจะผิดกันอยู่โข แต่ที่ชัดเจนไม่แพ้กันก็คือ เราไม่ได้ให้ความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเขา ซึ่งอาจเพราะถือว่าต้องเอาประวัติศาสตร์การรวมราชธานีของเราเป็นหลัก

เหล่านั้นคือรูปแบบของ “ชาตินิยมไทย”

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ด้วยการสร้างชาติมาแต่ในรูปแบบดังกล่าวมาทั้งหมด จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่เมื่อการสร้างชาติในรูปแบบนั้น ได้แทรกซึมเข้าไปในแบบเรียนแล้ว ย่อมเป็นการปลูกฝังความเป็น “Egocentric” หรือการคิดแบบ “เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง” สู่ผู้ร่ำเรียนจากแบบเรียนนั้นไปโดยไม่มีใครรู้ตัว

นำมาซึ่งรูปแบบของการจัดการปัญหาแบบหนึ่ง ที่แฝงฝังอยู่ในตัวเรา หรือกลายเป็นเครื่องมืออย่างจงใจ อันนำมาซึ่งการจัดการกับปัญหาใดใด โดยไม่ยี่หระต่อการละทิ้ง กดเหยียด บิดผันให้เป็นอื่น ซึ่งสิ่งละอันพันละน้อยอื่นใด โดยมีข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมว่า “เราต้องมองไปยังองค์ผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่า” จนอาจกล่าวหาได้ว่า ผู้ยังฝักใฝ่ทำตัวเป็นปัญหาส่วนน้อย (อย่างที่ส่วนใหญ่ว่าเขาเป็น) นั้น เป็นเพียงพวกคนเห็นแก่ตัว ที่ไม่รู้จักเห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนรวม

เพียงเพิกเฉยต่อเสียงส่วนน้อยนั้น ผมก็รู้สึกว่าเป็น “อัปลักษณูปการ” หนึ่งของ “ประชาธิปไตยฉบับบูดเบี้ยว” (พวกมากลากไป) แล้ว นี่ถึงขั้นกดเหยียดให้เป็นอื่น คงต้องบอกว่าเป็น “อัปรียลักษณูปการ” ของประชาธิปไตยฉบับดังกล่าวทีเดียว จึงแทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ใหญ่ที่เติบโตมาจากเด็กที่ได้รับการปลูกฝังในทำนองนั้น จะมีท่าทีอย่างไรต่อประชาธิปไตย หรืออำนาจความเป็นส่วนใหญ่ในมือตน หากไม่ได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประชาธิปไตยในภายหลัง ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปอีกว่า เมื่อรู้แล้ว เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว เขาจะยอมรับมันหรือไม่

และทำให้รู้สึกไปว่า อุปนิสัยไทยแท้สองข้อหลัง ตามแบบสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า “ความปราศจากวิหิงสา” และ “ความฉลาดในการประสานประโยชน์” นั้น คงดับสูญสิ้นไปพร้อมกับ “เสมือนสัมบูรณอัสดง” ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (อันที่จริงก็ได้สูญหายไปก่อนหน้านั้น คือในรัชสมัยต่อมาแล้ว) แต่หรืออันที่จริง ก็ยังคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของอุปนิสัยไทยสองประการนั้นอยู่ หากแต่ทั้งหมดต้องเป็นไปภายใต้อุปนิสัยในข้อแรกที่ว่าคือ “ความจงรักในอิสรภาพของชาติ”

ในทางปฏิบัติแล้ว สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงทำได้ดีในระดับหนึ่ง คือทรงเน้นที่ความเป็น “เมืองไทย” มากกว่า “ชาติไทย” ด้วยทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงทรงเข้าใจในความหลากหลายทางชนชาติ ของผู้คนมากมายที่อาศัยร่วมอยู่ใต้ร่มไทยเป็นอย่างดี จึงทรงรู้ชัดว่า หากเน้นความเป็นไทยที่ชาติ ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากความเป็นชาติของชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ถูกปลุกขึ้นมาพร้อมกันได้[6]

แม้ต่อมา ชาตินิยมไทยแบบพระองค์จะหายไป ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากอุปนิสัยที่ทรงดำรัสว่าเป็นไทยแท้ดังกล่าว จะตายไปพร้อมกับความผันผวนทางการเมือง

แต่นั่นก็เป็นการย้ำชัดว่า “ชาติไทย” หรือ “ความเป็นไทย” นั้น “ไม่เคยมีอยู่จริง” หากเป็นเพียง “เอกมัยจินตนาการ” หรือ “จินตนาการอันมีลักษณะเหมือนกัน” หรือ “จินตนาการร่วม” ที่ถูกสร้างขึ้น ประดิษฐ์เอาตามความคิดอยาก ตามความคิดว่าควร หรือมองในแง่ดีว่าตามความพยายามด้วยอยากเห็นเป็นจริง (ล้วนเป็นแบบ Central Region Centricism) ของผู้มีอำนาจสร้างความเป็นไทยในยุคสมัยนั้นๆจะสามารถประดิษฐ์ได้ โดยมีปัจจัยทางการเมือง ซึ่งบางครั้งก็คาบเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ซึ่งเป็นตัวกำหนดอยู่เบื้องหลังอีกที

และเมื่อถูกประดิษฐ์ขึ้นมาตามฐานความผันผวนดังกล่าว เมื่อเดินทางผ่านกาลเวลาแล้ว จึงย่อมเป็นไปได้ ที่ความหมายของไทย ที่ถูกผูกติดอยู่กับชาติ จะแตกหน่อต่อขยายไปในหลายลักษณะ และเลือนราง บางเบา จนหาความชัดเจนแท้จริงใดใดไม่ได้เอาเสียเลย

สุดท้ายจึงเป็นเพียงคำๆหนึ่ง ที่มักถูกหยิบขึ้นมาใช้ ตามแต่ว่าตัวผู้ใช้ กำลังคาดหวังจะใช้มันไปในการใด ซึ่งก็มักจะอยู่ในรูปการแบ่งเขาแบ่งเรา แต่ที่หนักหนากว่าคือใช้เพื่อ “เหยียดเขายกเรา” จึงเป็นตัวอย่างที่ดี หากจะกล่าวว่า “สิ่งที่ทำให้คำมีความหมายขึ้นจริงได้ไม่ใช่ความหมายของคำ หากแต่เป็นอุปลักษณ์อันหลากหลายที่ซ่อนเร้นอยู่ในเจตนาของผู้ใช้คำ”

แม้จะมีความเป็นมาที่เปราะบาง แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์แล้ว ย่อมสามารถได้รับการต่อเติมเสริมแต่ง แก้ไขดัดแปลง หรือถึงขั้นถอดรื้อสร้างใหม่ได้ตามความสามารถของนักประดิษฐ์รุ่นหลังๆ

จึงเป็นความสงสัยโดยส่วนตัวว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการถอดรื้อชาตินิยมไทยแบบเก่า และสร้างชาตินิยมไทยแบบใหม่ ที่จะได้เป็นแบบไทยแท้ๆที่แท้จริงขึ้นมา ซึ่งหากถามว่า คราวนี้จะให้สิ่งใดเป็นตัวแทน เป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นไทย ผมอยากเสนอว่า ก็ให้บอกว่าคือทุกสิ่งทุกอย่าง ในความเปลี่ยนแปลงทั้งในตัวนโยบาย และสิ่งใดใด อันเป็นผลจากนโยบายชาตินิยมไทยแบบเดิมๆที่ผ่านมานั่นเอง ที่เป็น “ความเป็นไทยแท้” หนึ่งในหลายๆประการ อันเป็นผลมาจากคนไทยหยิบมือหนึ่ง และได้รับการสนับสนุนจากคนไทยในกำมือที่เหลืออย่างไม่ลืมหูลืมตา ด้วยไม่เคยได้รับรู้ความจริงเบื้องหลัง หรือความจริงไกลตัว หรือรู้แล้วก็ไม่อาจทำอะไรได้ ด้วยเข้าใจถึงความเป็นผู้ไม่อาจต่อต้านอำนาจเหนือ หรือแม้ไม่ตกติดอยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจเหนือ ก็ยังขยิบหรี่ตามองไป ด้วยมุ่งหวังในสิ่งที่เชื่อว่าเป็น “ประโยชน์ไทย” ที่ใหญ่กว่า โดยลืมนึกคิดไปว่า ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมความคิดเชื่อแล้ว ย่อมมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์ใหญ่กว่าความเป็นชาตินิยมไทย ที่แผ่ผ่านมาตาม “การหักหาญกลืนกินซึ่งวัฒนธรรมอย่างเอาแต่ใจ” ซึ่งสิ่งอันใหญ่กว่านั้น อาจหมายถึงความเป็นเอกราชของเขา และหากตัดทิ้งไปซึ่งคำว่าเขาว่าเราแล้ว เอกราชนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนหวงแหนแสนต้องการเช่นกัน

ผมพอจะเข้าใจ ว่าการควักขี้ในไส้ออกมาเปิดเผย ย่อมทำให้ผู้คนบางส่วน (ส่วนใหญ่) ต้องรู้สึกไม่ดีกับความเป็นไทยแบบเดิมๆที่เคยรับรู้กันมา และคงให้เป็นที่หวั่นเกรง ว่าจะทำให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่สูญเสียความภาคภูมิใจในชาติไป

ต่อข้อกังวลดังกล่าว ผมเองเชื่อว่าทุกคนก็น่าจะเห็นกันถ้วนทั่วแล้วว่า ถ้าความเป็นไทยแบบเดิมๆที่เราพร่ำสอนกันอยู่ตามแบบเรียนนั้น สามารถสร้างความเป็นไทยแท้ ความเป็นไทยร่วมได้จริงๆ แล้วเหตุใดจึงยังต้องมีการณรงค์ ท้วงถามถึงความเป็นไทยกันออกมาเป็นระยะอีก

ที่สำคัญก็คือ ในเมื่อเราเองก็คุ้นชินในการมองไปยังประโยชน์ที่ใหญ่กว่า ก็เป็นการควรใช่หรือไม่ หากเราจะมุ่งเป้าประสงค์การสร้างชาติแนวใหม่ ไปที่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้หลุดพ้นจากความคิดเชื่อแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นเด็กเยาวชนคนรู้ใหม่ เพื่อเติบโตไปเป็นกำลังคนชนส่วนใหญ่ในประเทศภายภาคหน้า และละเลย โละทิ้งไปเสียบ้าง ซึ่งคำความแห่งตัวตนคนรุ่นเก่าที่ตกตายไปแล้ว หรือเข้าใกล้ความดับตายเข้าไปทุกวัน เพื่อได้ค้นพบความยิ่งใหญ่ แห่งความเป็นไทยที่แท้ ที่ใฝ่ฝันหากันมานานเหลือเกิน

เราควรจะให้ผู้คนได้รับรู้สิ่งไม่ดี…เพื่อได้ค้นหาสิ่งดี
เราควรจะให้คนได้รับรู้สิ่งลวง…เพื่อได้ค้นหาสิ่งแท้

เพราะในความเป็นจริง การที่เราได้รู้แล้วแต่แรก ว่าสิ่งใดจริงสิ่งใดแท้ ก็อาจทำให้เรานิ่งนอน หรือถึงขั้นคึกผยองลำพองใจ จนไม่ไขว่คว้าหาทางรับรู้ถึงด้านที่ไม่ดี ด้วยถือว่าด้านที่มีก็ดีอยู่แล้ว จึงละเลยซึ่งการเตรียมการป้องกันสิ่งไม่ดีนั้นไป

เราจึงควรพามนุษย์ให้ตระหนักถึงความจริงที่ว่า ตนกำลังตกติดอยู่ในสภาวะที่ไม่ดี เพื่อปล่อยให้สัญชาตญาณการเอาตัวรอดได้ทำหน้าที่ในการค้นหาสิ่งดี

ไม่เช่นนั้นแล้ว “ไทย” คงไม่มีความหมายมากไปกว่า “ไทย๑ [ไท] น. ชื่อประเทศและชนชาติที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนติดต่อกับลาว เขมร มาเลเซีย และพม่า” ซึ่งคงเป็นส่วนความหมายที่ชัดเจนที่สุด และเป็นเพียงตัวหนังสือ ที่ไม่อาจบ่งบอกอัตลักษณ์ใดใดได้เท่านั้น ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจนัก ว่าถ้ามันเป็นเช่นนั้นขึ้นมาจริงๆ จะมีใครเดือดเนื้อร้อนใจมากน้อยเพียงไหน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีสักครั้งที่แนวคิด “ชาตินิยมไทย” จะอยู่บนพื้นฐานการผสมผสานอย่างเข้าใจ ว่าความเป็นไทยนั้นควรจะถูกสร้างขึ้นอย่างไรจากความแตกต่างอันหลากหลาย ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตพรมแดนของ “ประเทศ” (ซึ่งมักสับสนกันว่าคือสิ่งเดียวกับชาติ) ซึ่งหากจะทำการผสมผสานด้วยความเข้าใจกันจริงๆแล้ว เราควรจะทำความเข้าใจกันก่อนว่า ภายใต้ขอบเขตประเทศไทยนี้ มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอยู่อย่างหลากหลาย อันเป็นผลมาจากความหลากหลายของชาติพันธุ์ ที่มาอยู่ร่วมกันภายใต้อาณาเขตประเทศไทยนี้ และในบางพื้นที่นั้น มีความเหนียวแน่นของวัฒนธรรม และความเหนียวแน่นของเอกลักษณ์ ที่สืบเนื่องยาวนานมาแต่อดีต ผูกติดเป็นเนื้อเดียวกับประวัติศาสตร์ของเขาเหล่านั้น จนเรียกได้ว่านั่นเป็น “ตัวตน” ของเขา เหมือนเช่นที่เราเองมีตัวตนอยู่ได้ แม้จะภายใต้ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์รวมศูนย์” ก็ตามที

ผมเชื่อว่า เราสามารถสร้างความเหมือน ความเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยที่ยังมี “ความแตกต่าง” นั้นอยู่ใน “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” ที่ฝ่ายผู้ที่มีอำนาจสร้างขึ้นได้ โดยการเว้นพื้นที่ว่างทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต แก่คนเหล่านั้น ให้พวกเขาได้บรรจุ “ตัวตน” ของตัวเองเข้าไว้ในความเป็นหนึ่งเดียวกันที่ถูกสร้างขึ้นด้วย ไม่ใช่ใช้กำลังของฝ่ายผู้ที่มีอำนาจไปกำหนดแต่เพียงข้างเดียว ว่าภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวที่สร้างขึ้นนั้น พวกเขาจะต้องลบล้าง “ตัวตนเดิม” แล้วยอมรับแต่เพียง “ตัวตนใหม่” ที่ฝ่ายผู้ที่มีอำนาจกำหนดให้ ดังที่เคยได้ทำกันมา คือมุ่งเปลี่ยนทุกสิ่งให้เป็นไทย มุ่งทำให้ความแตกต่างหมดไป โดยกำหนด (บังคับ) ให้ความแตกต่างทั้งหมดนั้น “ปฏิบัติไทย” ตามแบบที่เป็นไทยอย่างที่ “หยิบมือไทย” หนึ่งนั้นคิด

ผมไม่ได้ฝักใฝ่ความเป็นชาตินิยม หรือชาตินิยมไทยแต่อย่างใด หากแต่รู้สึกว่า ถ้ามันเป็นที่ใฝ่ฝันหาของใครหลายๆคน และคิดอยากให้มันก้าวข้ามขอบเขตความเป็นนามธรรม สู่ความเป็นรูปธรรมกันอย่างจริงจังแล้ว เราก็ควรหามันให้เจออย่างถูกวิธี เพื่อได้สร้างความมั่นคงที่แท้จริง ทั้งเชิงนิยามความหมาย และตัวตนให้แก่มัน

ไม่ใช่ปล่อยให้มันสั่นไหวไปมาตามแรงผันผวนทางการเมือง…
อย่างที่…มันเป็นมาตลอด
หรืออย่างที่…ประชาธิปไตยเป็น

ผมเกลียดวิถีชีวิตที่ต้องสั่นไหวไปตามความผันผวนของการเมือง อันเกิดแต่ความเอาแต่ใจของคนหยิบมือหนึ่งเป็นที่สุด

และเชื่อว่าไม่น่าจะมีใครยินดีกับมัน…

“We’re standing on the shoulder of giant. So, jump to the future from its shoulder, not from its dung to its dung.”

Download ตาราง: การเปลี่ยนแปลงและสาเหตุการเกิดขึ้นของชาตินิยมไทยโดยสังเขป [เรียบเรียงจาก สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้าง “ความเป็นไทย” กระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง (The Construction of Mainstream Thought on “Thainess” and the “Thruth” Constructed by “Thainess”), ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่]

ปล. (ปัจฉิมลิขิต): งานนี้นี่โคตรเหนื่อยเลย ผมคงไม่คุ้นชินกับการใช้สมองนัก เพราะปรกติจะเขียนโดยใช้สัญชาตญาณ

[1] Ivan Petrovich Pavlov นักสรีรศาสตร์ชาวรัสเซีย เจ้าของทฤษฎี “Classical Conditioning” อันว่าด้วยการจับคู่เข้าด้วยกัน ระหว่างตัวกระตุ้นเร้าที่ทำให้เกิดการตอบสนองตามธรรมชาติกับตัวกระตุ้นเร้าที่เป็นกลาง ภายหลังที่เกิดการเรียนรู้ความเกี่ยวเนื่องระหว่างสองตัวกระตุ้นเร้าดังกล่าวขึ้น -การตอบสนองต่อตัวกระตุ้นเร้าแรกสามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยตัวกระตุ้นเร้าตัวที่สอง- การทดลองที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ “สุนัขของพาฟลอฟ” หรือ “Pavlov’s Dog” นั้นเป็นตัวอย่างที่พาฟลอฟใช้ในการอธิบายทฤษฎีดังกล่าว ปรกติแล้ว อาหารจะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้สุนัขเกิดการหลั่งน้ำลาย ซึ่งเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติ ลำพังเสียงกระดิ่งจะไม่ทำให้เกิดการตอบสนองนี้ แต่พาฟลอฟพบว่าด้วยการจับคู่ตัวกระตุ้นทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน นั่นก็คือ สั่นกระดิ่งในขณะที่ให้อาหารแก่สุนัข เขาสามารถสร้างเงื่อนไขให้สุนัขเกิดน้ำลายไหลเพียงได้ยินเสียงกระดิ่ง

[2] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “การสร้างชาติและนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม, 2482-2487”, ใน ความเป็นมาของทฤษฎี “แบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย” (กรุงเทพ: โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549) หน้า 74

[3] อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา, อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา, “ปรัชญาการศึกษาที่สอดคล้องกับชีวิตและชุมชนในทัศนะอิสลาม”, ใน “ความรู้และความไม่รู้ ๓ จังหวัดภาคใต้”

[4] ปราโมทย์ แก้วสุข, คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, “แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้”, ใน “ความรู้และความไม่รู้ ๓ จังหวัดภาคใต้”

[5] อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา, อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา, “ปรัชญาการศึกษาที่สอดคล้องกับชีวิตและชุมชนในทัศนะอิสลาม”, ใน “ความรู้และความไม่รู้ ๓ จังหวัดภาคใต้”

[6] สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้าง “ความเป็นไทย” กระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง (The Construction of Mainstream Thought on “Thainess” and the “Thruth” Constructed by “Thainess”), ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

-หนังสือและเอกสารอ้างอิง-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2493, 2525 และ 2542

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ความเป็นมาของทฤษฎี “แบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย” (กรุงเทพ: โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)

นิธิ เอียวศรีวงศ์ และคณะ, ความรู้และความไม่รู้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (กรุงเทพ: คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)

สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้าง “ความเป็นไทย” กระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง (The Construction of Mainstream Thought on “Thainess” and the “Thruth” Constructed by “Thainess”), ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่มาข้อมูลตาราง

สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้าง “ความเป็นไทย” กระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง (The Construction of Mainstream Thought on “Thainess” and the “Thruth” Constructed by “Thainess”), ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Posted in บทความ | 5 Comments »